Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จับมือประมงจังหวัดและภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมกินปูม้า ครั้งที่ 2 ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก BCG ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

อัพเดท : 24/01/2565

1026

นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดงานมหกรรมกินปูม้า จ.นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 (Amazing Crab Feeder 2^nd) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเข้าร่วม ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า กล่าวว่า งานมหกรรมกินปูม้า นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 2 จัดขึ้นด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อดำเนินโครงการธนาคารปูม้า และโครงการขยายผลธนาคารปูม้า ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก BCG ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว สามารถเพิ่มทรัพยากรปูม้าให้แก่ทะเลไทยได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวประมงสามารถจับปูได้มากขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% ของรายได้เดิม ภายใต้การดำเนินงานขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยธนาคารปูม้า มวล.วช. เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมกลไก สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ชุมชนสามารถเรียนรู้ปรับตัวเพื่ออยู่รอดได้ด้วยตนเอง

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า โครงการได้จัดสร้างธนาคารปูม้าจำนวน 19 ธนาคาร และศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าอีก 5 แห่ง และได้มีกิจกรรมปล่อยปูม้า ในระยะเวลา 10 เดือนของการดำเนินโครงการ โดยกลุ่มธนาคารได้นำปูไข่นอกกระดองเข้าธนาคารโดยเฉลี่ยจำนวน 89 ตัวต่อธนาคารต่อเดือน รวมข้อมูลปูไข่นอกกระดองทั้งหมดที่เข้าธนาคารเพื่อเพาะฟักและปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเลไทย จำนวน 15,837 ตัว เมื่อพิจารณารวมแม่ปูม้าที่ปล่อยโดยธนาคารปูม้า คิดเป็นจำนวน 64,362 ตัว ชาวประมงแต่ละธนาคารได้ปล่อยปูม้า เฉลี่ย 13 ครั้งต่อธนาคารต่อเดือน รวมทั้งได้มีการอบรมให้ชาวประมงมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการจัดทำธนาคารปูม้าและชีวประมงปูม้าเพื่อเพิ่มอัตราการรอด และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าและทรัพยากรประมงอื่นๆในพื้นที่มากขึ้น       

          นอกจากนี้โครงการธนาคารปูม้า ยังได้ต่อยอดทางด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีประมงปูม้า มีแผนการท่องเที่ยวตามอัตลักษณ์พื้นที่โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน มีการจัดทำเมนูอาหารปูม้าอัตลักษณ์จังหวัดนครศรีธรรมราชกว่า 8 เมนู รวมทั้งจัดทำช่องทางการขายปูม้าแบบออนไลน์ และการสร้างนวัตกรรมเครื่องแยกไข่ปูม้าชุมชน ซึ่งภายในงานได้มีการจำหน่ายปูม้า ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากชุมชน กิจกรรมไข่ปูม้าพาโชค และมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่ดำเนินการ ระยะที่ 1 มีพื้นที่ให้บริการ 4 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 36 ตำบล

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร