Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อาจารย์สำนักวิชาแพทย์ฯ มวล. บรรยาย “ปัญหาและปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน”

22/10/2555

3664

ดร.รพีพร ขวัญเชื้อ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์(มวล.) บรรยายหัวข้อ “ปัญหาและปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน” ระบุแนวโน้มประชากรประสบปัญหาโรคกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้น โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า
 

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 จัดอบรมเรื่อง การป้องกันโรคกระดูกพรุน เพื่อให้ความรู้แก่ครูในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชกว่า 200 คน โดยในพิธีเปิดการอบรมได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงสุขจันทร์ พงษ์ประไพ ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ และประธานชมรมรักษ์กระดูก มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวรายงานการอบรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี วศินานุกร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวเปิดการอบรม
 

โอกาสนี้ ดร.รพีพร ขวัญเชื้อ อาจารย์ประจำสำนักแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ได้บรรยายในหัวข้อ “ปัญหาและปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน” ว่า โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มีการลดลงของมวลกระดูก ทำให้โครงสร้างของกระดูกเปลี่ยนไป ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ซึ่งผลที่ตามมาคือ กระดูกเปราะบางและมีโอกาสแตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อมือ และกระดูกต้นแขน ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่า ผู้หญิงไทยวัยหมดประจำเดือนและผู้หญิงสูงอายุ ร้อยละ 30 ของประชากรประสบปัญหาโรคกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และแนวโน้มจำนวนประชากรผู้สูงอายุในอนาคตมีเพิ่มขึ้น คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 6.4 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 9 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2558 และเพิ่มเป็น 12.9 ล้านคน ใน ปี พ.ศ. 2568 ซึ่งหมายความว่าจำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
 

จากสถิติพบว่า ผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนและมีกระดูกหัก มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 1 ปี ปัจจุบันในวงการแพทย์จึงตระหนักถึงการป้องกันโรคกระดูกพรุนในระยะยาว โดยพบว่า ผู้ที่สะสมมวลกระดูกในวัยเด็กและวัยรุ่นได้อย่างเต็มที่จนได้ปริมาณมวลกระดูกสูงสุด (Bone mineral density) มากที่สุด เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุซึ่งกระดูกมีการสลายมากกว่าการสร้างใหม่ จะยังคงเหลือปริมาณมวลกระดูกมากเพียงพอ จึงลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักได้
 

ดร.รพีพร ขวัญเชื้อ บอกถึงปัจจัยที่มีผลต่อมวลกระดูกว่า สามารถแบ่งเป็น ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ พันธุกรรม เชื้อชาติ และเพศ ซึ่งพบว่า ผู้ที่มีพ่อแม่/ปู่ย่า/ตายาย เป็นโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเป็นโรคได้มากถึง 60-80% คนผิวดำมีกระดูกที่แข็งแรงกว่าคนผิวขาว ผู้ที่มีรูปร่างผอมบางกว่าปกติมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า และเพศหญิงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว โดยปกติฮอร์โมนชนิดนี้มีบทบาทยับยั้งกระบวนการสลายกระดูก ถ้าปริมาณฮอร์โมนลดลงอย่างรวดเร็ว กระบวนการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น มีผลให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้หญิงที่มีการสะสมมวลกระดูกน้อยตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้สูงมาก ส่วนปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ การรับประทานอาหาร/เครื่องดื่ม การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ โรคประจำตัว หรือการใช้ยา เป็นต้น
 

เนื่องจากธาตุแคลเซียมเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูก ดังนั้นในการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูงที่สุดรับประทานเข้าไปปริมาณเท่าไหร่ก็ได้รับแคลเซียมเข้าไปในร่างกายเท่านั้น แต่ทางเดินอาหารมีความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมในปริมาณจำกัด การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงในครั้งเดียวมากเกินไปก็อาจไม่ได้แคลเซียมทั้งหมด ดังนั้น การดื่มนมครั้งละ 1 กล่อง (250 มิลลิลิตร) วันละ 2-3 กล่อง จะเป็นประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินดีที่เพียงพอ ง่ายที่สุดคือวิตามินดีจากแสงแดด จะช่วยในการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร
 

นอกจากนมแล้วยังมีแหล่งแคลเซียมจากผักใบเขียวหรือปลาเล็กปลาน้อยที่สามารถรับประทานได้ทั้งกระดูกอีกหลายชนิด แม้ว่าผักใบเขียวหรือธัญพืชบางชนิดมีปริมาณแคลเซียมสูงก็จริง แต่พบว่าอาจประกอบด้วยสารที่ยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมในปริมาณมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้องจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด ปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การออกกำลังกายชนิดที่มีแรงต้านหรือรับน้ำหนัก (weight bearing exercise) เช่น การวิ่งเหยาะๆ หรือเดิน jogging อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที/วัน อย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มมวลกระดูก
 

เครื่องดื่มที่มีผลให้มวลกระดูกลดลง ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน โดยคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะซึ่งจะขับแร่ธาตุรวมทั้งแคลเซียมออกมากับปัสสาวะด้วย เมื่อรับประทานต่อเนื่องวันละหลายๆแก้ว ทุกๆวัน ทำให้ปริมาณแคลเซียมลดลง ร่างกายจึงดึงแคลเซียมออกมาจากแหล่งเก็บสะสม ทำให้กระดูกบางลงได้ ซึ่งจากผลการวิจัยรายงานว่า การดื่มกาแฟปริมาณเท่ากับหรือมากกว่า 3 แก้ว/ วัน ทำให้มวลกระดูกลดลง อย่างไรก็ตามผลดังกล่าวจะเกิดขึ้นในผู้ที่ได้รับแคลเซียมต่อวันไม่เพียงพอด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กและวัยรุ่น นิยมดื่มน้ำอัดลมชนิดฟองฟู่กันมาก ทำให้ดื่มนมลดลง จึงได้รับแคลเซียมต่อวันไม่เพียงพอ มีงานวิจัยรายงานแล้วว่า การดื่มน้ำอัดลมดังกล่าววันละ 250-300 มิลลิลิตร ทำให้มวลกระดูกลดลงซึ่งพบในเพศหญิง นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่มากกว่า 1 กล่อง/วัน ทำให้มวลกระดูกลดลงได้
 

นอกจากการบรรยายในหัวข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการบรรยายหัวข้อ อาหารและวิตามินเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน การออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนและป้องกันการหกล้ม การสาธิตการทำอาหารแคลเซียมสูง กิจกรรมกลุ่มย่อยจากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ การให้บริการตรวจมวลกระดูกแก่ผู้เข้ารับการอบรม ตลอดจนโปสเตอร์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนและการป้องกันโรคกระดูกพรุนอีกด้วย
 

อนึ่ง การอบรมเรื่อง การป้องกันโรคกระดูกพรุน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีโรงเรียนประถมศึกษาต้นแบบของภาคใต้ ที่จะดำเนินโครงการ “ป้องกันโรคกระดูกพรุนในโรงเรียน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4 ร่วมกับมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ ให้การสนับสนุนและยินดีให้คำปรึกษาในการดำเนินโครงการป้องกันโรคกระดูกพรุนในเด็กนักเรียน เพื่อลดอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคต


ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ขอขอบคุณ ข้อมูลจากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และภาพจากศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา