Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

แนะนำ PhD. ใหม่ : ดร.วัณณสาส์น กับโครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยาม

อัพเดท : 02/11/2555

6739



ดร.วัณณสาส์น นุ่นสุข อาจารย์ใหม่สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านโบราณคดี จาก Cornell University ผู้มีความมุ่งมั่นศึกษาเรียนรู้และวิจัยเกี่ยวกับมรดกทางโบราณคดีของคาบสมุทรสยาม โดยในขั้นต้นเน้นศึกษาเรื่อง “รัฐตามพรลิงค์” ภายใต้โครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยาม (The Archaeology of Peninsular Siam Project) และได้เป็นหนึ่งในคณะทำงานของจังหวัดเพื่อขึ้นทะเบียนพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นมรดกโลก
 
ดร.วัณณสาส์น เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด คลุกคลีอยู่กับแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่เด็ก ด้วยเหตุที่คุณพ่อ รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีชา นุ่นสุข เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี จึงได้นำบุตรชายท่องเที่ยวไปยังแหล่งโบราณคดีที่ท่านค้นคว้าวิจัย ทำให้เด็กชายวัณณสาส์นซึมซับและให้ความสนใจกับการศึกษาโบราณคดีของภาคใต้โดยไม่รู้ตัว ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ได้สอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยม อันดับ 1 จากนั้น ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกอักษรศาสตร์ ไปศึกษาต่อทางด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดีในระดับปริญญาโท ที่ University of Hawaii และในระดับปริญญาเอกที่ Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้าน Southeast Asian Studies โดยมี Professor Stanley J. O’Connor ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาคใต้ของไทย เป็นที่ปรึกษา
 
ความสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวของอาณาจักรตามพรลิงค์และนครศรีธรรมราชก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 เริ่มตั้งแต่ปี 2552 ในช่วงที่กลับมาทำงานภาคสนามอย่างเข้มข้นในนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตัวจุดประกายความคิด เนื่องจากการศึกษาค้นคว้าทางด้านนี้มีน้อยมาก และยังไม่มีใครทำ แต่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีมากมายในคาบสมุทรสยาม ซึ่งหมายถึงภาคใต้ของไทยที่มีลักษณะเฉพาะเพราะเป็นประตูสู่มหาสมุทรทั้งสองด้าน ถือเป็นเส้นทางออกสู่สังคมภายนอก ทำให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าขายและการเดินทางของกลุ่มคนต่างๆ รวมทั้งพระสงฆ์และพราหมณ์ ดินแดนแห่งนี้จึงมีการผสมผสานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ร่องรอยมรดกวัฒนธรรมในอดีตจึงมีให้เห็นอยู่มากมาย ที่สำคัญภาคใต้มีรัฐโบราณที่ชื่อ “ตามพรลิงค์” ซึ่งเป็นรัฐที่มีความโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่ง ได้รับการอ้างอิงในเอกสารของจีน อินเดียและลังกา ว่า เป็นรัฐที่รุ่งเรืองทางด้านการค้ามาก แต่ที่อ้างถึงเป็นช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นรัฐเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไปมีเมืองขึ้นในเอเชียใต้ได้ จึงมีความสนใจที่จะค้นหาความเป็นมาของรัฐนี้ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากมีหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก เช่น แหล่งโบราณคดีและศาสนสถาน และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เช่น กลองมโหระทึก ซึ่งในคาบสมุทรนี้พบมากที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช
 
ดังนั้น เมื่อกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ต่อที่ Cornell University จึงคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังและจัดทำเป็นโครงการระยะยาวเพื่อศึกษาด้านโบราณคดีในคาบสมุทรสยาม ทำให้เกิดเป็นโครงการคาบสมุทรสยาม (The Archaeology of Peninsular Siam Project) โดยในเบื้องต้นเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผ่านสำนักวิชาศิลปศาตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของโครงการนี้ ร่วมกับโปรแกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโปรแกรมโบราณคดีของมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Southeast Asia and Archaeology Programs of Cornell University) ศูนย์นาลันทา-ศรีวิชัยของสถาบันเอเชียศึกษาประเทศสิงคโปร์ (The Nalanda-Sriwijaya Centre) และสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (L’Ecole Francaise Extreme Orient) ซึ่งในอนาคตจะขยายเครือข่ายไปสู่อีกหลายสถาบัน โครงการนี้มีภารกิจหลักสี่ด้าน ประกอบด้วยการวิจัยทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทย การส่งเสริมการตีพิมพ์หนังสือและบทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมการเรียนการสอนทางโบราณคดี และการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางโบราณคดี
 
ทั้งนี้ องค์กรในต่างประเทศจะให้ความร่วมมือทางด้านการพัฒนาองค์ความรู้ และการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาเพื่อการเรียนรู้ระหว่างกัน ในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดร.วัณณสาส์น ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ จะทำหน้าเป็นนักวิจัยหลักและหาเงินทุนเพื่อนำมาสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ ของโครงการจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมทั้งงบสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในอนาคตหากงานวิจัยประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีอาจจะของบสนับสนุนจากองค์กรในต่างประเทศด้วยก็เป็นได้
 
ขณะเดียวกัน โครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยาม ยังมีเป้าหมายที่จะเป็นรากฐานให้อุทยานการศึกษาโบราณคดี ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อดำเนินการด้านงานวิจัยและการศึกษาทางโบราณคดี หรืออาจจะนำไปสู่การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย (University Museum) โดยรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้มาจากการทำงานภาคสนามของโครงการ หนังสือ และจัดทำฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีภาคใต้ เพื่อการศึกษาทางด้านนี้ ซึ่งในขณะนี้ ดร.วัณณสาส์น ได้ดำเนินการขอทำข้อตกลงความร่วมมือระยะยาวกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อช่วยกันพัฒนาการวิจัยทางโบราณคดีในภาคใต้ของไทย
 
หากการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่ ดร.วัณณสาส์น นุ่นสุข ได้วางไว้ คาดว่า ภายใน 10 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และวิจัยทางโบราณคดีของคาบสมุทรสยาม” แห่งเดียวที่มีข้อมูลทางด้านโบราณคดีของภาคใต้ที่สมบูรณ์มากที่สุด

ประวัติและผลงานวิชาการ

บทความ "โครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยาม"