Location

0 7567 3000

ผลงานและรางวัล

สุดปัง! ทีมนักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ คว้ารางวัล Gold Award จากมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Reseach Expo 2022)

อัพเดท : 08/08/2565

817

ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เจ้าของชุดโครงการ “เทคโนโลยีวัสดุแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ และการกักเก็บพลังงาน” ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายวิจัย Fundamental Fund มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คว้ารางวัล Gold Award พร้อมเงินรางวัล 70,000 บาท จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Reseach Expo 2565) "วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
     

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ทับทรวง (หัวหน้าชุดโครงการและหัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 3) อาจารย์ประจำหลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า งานวิจัยเรื่อง“เทคโนโลยีวัสดุแปลงพลังงานแสงอาทิตย์และการกักเก็บพลังงาน” เป็นชุดโครงการวิจัยที่มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ทับทรวง เป็นหัวหน้าชุดโครงการ โดยมีโครงการวิจัยย่อย 4 โครงการ ประกอบด้วย 

 
     
     โครงการวิจัยย่อยที่ 1 “การเพิ่มประสิทธิภาพการแปลงพลังงานของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสงโดยการใช้ขั้วไฟฟ้ารับแสงที่ได้จากวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมพูนุท นันทเมธี สาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ (หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 1) 
     
     โครงการวิจัยย่อยที่ 2 “การพัฒนาวัสดุคอมพอสิทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการถ่ายเทความร้อนและมวลสำหรับวัสดุกักเก็บความเย็นจากพลังงานแสงอาทิตย์” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมล ถิ่นสุราษฎร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 2) โดยมีผู้ร่วมวิจัยคือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิราพร ศักดิ์พรหม 
     
     โครงการวิจัยย่อยที่ 3 “การพัฒนาคาร์บอนรูพรุนจากชีวมวลเพื่อใช้เป็นอิเล็กโทรดสำหรับตัวเก็บประจุไฟฟ้ายิ่งยวด” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ทับทรวง สาขาวิชาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 3)  โดยมีผู้ร่วมวิจัยคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศรา เสนีย์ศรีสกุล และ รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณนิภา เชาวนะ 
     
      โครงการวิจัยย่อยที่ 4 “การเตรียมคาร์บอนที่มีรูพรุนจากยางธรรมชาติสำหรับประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรดสำหรับการกักเก็บประจุไฟฟ้า โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชิด สระโมฬี สาขาวิชาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 4) โดยมีผู้ร่วมวิจัยคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศรา เสนีย์ศรีสกุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ทับทรวง  
     
      โดยมีนายนพรัตน์ แสงทอง นายวิกรม เรศน์ประดิษฐ์ ผู้ช่วยวิจัย VDO โดย ผศ.ดร.กัมปนาท สุขมาก สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมออกแบบและวางแผนงานศิลปะโดย คณะผู้วิจัย อาจารย์กิตติ เชาวะ สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป และ คุณฐิติกร ทองเอียด สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คณะผู้วิจัยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลงานวิจัยได้รับรางวัล Gold Award พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 70,000 บาทในครั้งนี้ โดยตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยทางด้านพลังงานสะอาด เทคโนโลยีวัสดุสำหรับการแปลงและกักเก็บพลังงานเพื่อความยั่งยืน และคณะผู้วิจัยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานทางด้านนี้ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นในอนาคต โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุด้วยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนและมีต้นทุนที่ถูกลง ทั้งนี้คณะผู้วิจัยขอขอบคุณการสนับสนุนจากฝ่ายวิจัย Fundamental Fund มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นอย่างสูง

     ทั้งนี้งานวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีวัสดุแปลงพลังงานแสงอาทิตย์และการกักเก็บพลังงาน” เป็นงานวิจัยที่พัฒนา วัสดุรูพรุนประสิทธิภาพสูงชนิดคาร์บอนรูพรุนจากพอลิเมอร์และชีวมวล และชนิดไททาเนียมไดออกไซด์ จากโครงข่ายโลหะอินทรีย์เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร โดยทำการพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์เพื่อเป็นสารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์ไททาเนียมไดออกไซด์ สารที่สังเคราะห์ได้จะมีโครงสร้างรูพรุนต่อเนื่องกันเป็นระเบียบ ขนาดรูพรุนเหมาะสม และสามารถดูดซับสีย้อมไวแสงได้ดี เมื่อนำสารมาใช้ประกอบเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันระหว่างที่เซลล์แสงอาทิตย์แปลงพลังงานก็เกิดความร้อนส่วนเกินขึ้น ซึ่งจะถูกดึงออกเพื่อรักษาอุณหภูมิของเซลล์แสงอาทิตย์ไม่ให้สูงเกินไปและทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์สม่ำเสมอ โดยความร้อนที่เก็บเกี่ยวออกมานั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวัฏจักรความเย็นสำหรับระบบปรับอากาศในอาคารที่อยู่อาศัย วัฏจักรความเย็นแบบดูดซับเป็นวัฏจักรที่ใช้เกลือโลหะทำปฏิกิริยากับสารทำความเย็น โดยใช้วัสดุรูพรุนเพื่อช่วยในการกระจายตัวของเกลือโลหะ จากนั้นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกกักเก็บโดยใช้ตัวเก็บประจุไฟฟ้ายิ่งยวดที่มีอิเล็กโทรดที่ทำมาจากคาร์บอนรูพรุนจากชีวมวลประเภทขี้เลื่อยไม้ยางพาราและยางธรรมชาติ ซึ่งมีมากในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยคาร์บอนรูพรุนที่สังเคราะห์ได้จะมีรูพรุนหลากหลายระดับสำหรับการเคลื่อนที่ของไอออนและการถ่ายเทประจุ และมีพื้นที่ผิวสูงสำหรับการกักเก็บประจุไฟฟ้า จากภาพรวมกล่าวได้ว่าผลงานวิจัยนี้จะช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แพร่หลายมากขึ้นในราคาที่ถูกลงเพื่อความยั่งยืนทางด้านพลังงานและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข่าวโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดย สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ
ขอบคุณข้อมูลประกอบข่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน ทับทรวง  สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี