Location

0 7567 3000

ผลงานและรางวัล

ยินดีด้วย!! อาจารย์และนักศึกษาศูนย์ FUNTECH คว้าเหรียญทองและเงิน ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

10/08/2565

753

อาจารย์และนักศึกษา จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุเชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยี Functional Materials & Nanotechnology Center of Excellence (FUNTECH) สาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คว้ารางวัลเหรียญทองและเหรียญเงิน ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรี ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ณ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2 -5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ดังนี้


1) รางวัลเหรียญทอง ได้แก่ นางสาว ศุภวรรณ ศิลปวิสุทธิ์ นักศึกษาสาขาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เจ้าของผลงาน อุปกรณ์สกัดสำหรับการวิเคราะห์สารปนเปื้อนอะโรมาติกในน้ำ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยะลักษณ์ หนูฤกษ์ อาจารย์ที่ปรึกษา
อุปกรณ์เข็มสกัดสำหรับการวิเคราะห์สารปนเปื้อนอะโรมาติกในน้ำ (Syringe Extraction Device for Aromatic Contaminants in Water) เน้นการพัฒนาการเตรียมตัวอย่างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์เข็มสกัด ประกอบด้วยวัสดุที่มีราคาถูกกว่าตัวดูดซับที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (ราคาประมาณ 100 บาท) ประมาณ 20 เท่า และสามารถใช้ซ้ำได้ถึง 21 ครั้ง เพิ่มมูลคำวัสดุเหลือใช้ สามารถตรียมได้ง่ายในห้องปฏิบัติการ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ มีประสิทธิภาพในการสกัดสารปนเปื้อนอะโรมาติกสูง (ร้อยละ 89-98) สามารถเพิ่มขีดจำกัดการตรวจวัดของเครื่องมือวิเคราะห์ได้ถึง 30 เท่า สามารถประยุกต์ใช้ในการเตรียมตัวอย่างสารปนเปื้อนชนิดอื่น ๆ ในสิ่งแวดล้อม


2) รางวัลเหรียญเงิน ได้แก่ นางสาว ณัฐชยา มาลารัตน์ นักศึกษาสาขาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เจ้าของผลงานการปรับปรุงขั้วไฟฟ้าด้วยถ่านกัมมันต์ร่วมกับอนุภาคนาโนทองเพื่อใช้ตรวจวัดเมทิลพาราเบนในเครื่องสำอาง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา ภู่ระหงษ์ อาจารย์ที่ปรึกษา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กชพรรณ กาญจนะ อาจารย์ผู้ร่วมโครงการ 
การปรับปรุงขั้วไฟฟ้าด้วยถ่านกัมมันต์ร่วมกับอนุภาคนาโนทองเพื่อใช้ตรวจวัดเมทิลพาราเบนในเครื่องสำอาง (cation of Electrochemical Sensor Using Activated Carb Gold Nanoparticles for Methylparaben Detection) ขั้วไฟฟ้าเคมีที่พัฒนาขึ้นด้วยการปรับปรุงผิวหน้าขั้วด้วยผงถ่านกัมมันต์ที่สังเคราะห์จากกาบใบปาล์มซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรร่วมกับการเกาะติดทางเคมีไฟฟ้าของอนุภาคนาโนทอง ที่สภาวะมาตรฐานมีความไวในการวิเคราะห์สูงกว่าขั้วเปลือยถึง 3 เท่า มีขีดจำกัดการตรวจวัดต่ำกว่าปริมาณสูงสุดที่ควบคุมในผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องสำอาง มีเสถียรภาพการตรวจวัดสูงกว่า 30 รอบ ซึ่งสามารถลดขีดจำกัดของขั้วไฟฟ้าที่ใช้งานทั่วไปในท้องตลาด อีกทั้งมีความถูกต้องและแม่นยำในการวิเคราะห์สูง เมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ปริมาณเมทิสพาราเบนในตัวอย่างจริงพบว่า ให้ผลการทดลองสอดคล้องกับวิธีมาตรฐานซึ่งมีราคาแพง ใช้ระยะเวลานาน และมีความยุ่งยากในการวิเคราะห์ จากผลงานนวัตกรรมที่กล่าวมาสามารถนำไปพัฒนาต่อเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตยา เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริมที่นิยมเติมสารกันบูดในกลุ่มพาราเบน

ข่าวโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยะลักษณ์ หนูฤกษ์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์