Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระบบดูแลนักศึกษาให้ เก่ง ดี  มีความสุข

05/09/2565

395

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนส่งเสริมและพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบดูแลและเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ “เก่ง ดี  มีความสุข” : Smile & Smart Center โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ร่วมพูดคุยนโยบายการดูแลนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยภาพรวม มีคณาจารย์และบุคลากรจากสำนักวิชาต่างๆของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมหัวตะพาน โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์

โครงการพัฒนาระบบดูแลและเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ “เก่ง ดี  มีความสุข” : Smile & Smart Center   ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมขับเคลื่อนตามอัตลักษณ์และบริบทของสำนักวิชา ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อส่งผลต่อประสิทธิภาพการพัฒนาคุณลักษณะนักศึกษาให้เก่ง ดี มีความสุข เกิดเครือข่ายการทำงานร่วม สามารถส่งต่อผู้เชี่ยวชาญและดูแลต่อเนื่องนักศึกษาทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม 

ครอบคลุม ด้านเก่ง สามารถลดจำนวนนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 ส่งผลให้อัตราการตกออกลดลง นักศึกษามีผลการเรียนดีขึ้น ด้านดี นักศึกษาเกิดคุณลักษณะการเป็นจิตอาสาและเกิดผลลัพธ์จากกิจกรรมพัฒนา Passport บัณฑิตคนดีเพิ่มขึ้น ด้านความสุข นักศึกษาเกิดความสุข สามารถเข้าถึงช่องทางการดูแลช่วยเหลือได้หลากหลายผ่านระบบดูแลใจจากอาจารย์ บุคลากร และกลุ่มเพื่อน ส่งผลให้ปัญหาของนักศึกษาได้รับการคลี่คลาย ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการดำเนินงานดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับบริบท สถานการณ์ปัญหา ความต้องการของนักศึกษา ส่วนส่งเสริมและพัฒนานักศึกษาจึงได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานและผลลัพธ์ในระบบดูแลและเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาระหว่างผู้เกี่ยวข้องขึ้น

โดยเวทีแลกเปลี่ยนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจ และทักษะเชิงบวกในการดูแลและเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษา สามารถนำความรู้และประสบการณ์การดูแลนักศึกษาที่ได้เรียนรู้ ไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักศึกษา  ตลอดจนค้นหา Best Practice และเกิดระบบ Coach เกิดเครือข่ายในการดูแลและเสริมศักยภาพนักศึกษา สามารถทำงานดูแลและเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาได้อย่างมีความสุขมากขึ้น