Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 11 ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน

19/09/2565

3106

วันนี้ (19 กันยายน 2565) เวลา 14.14 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 11 ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน  โดยมี นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายธีระชัย เชมนะสิริ นายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีพร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(อพ. สธ.) และดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ อพ.สธ. เฝ้าฯรับเสด็จ

การประชุมวิชาการของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ อพ. สธ. นี้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 ปีนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพจัดงาน ระหว่างวันที่ 19 ถึง 24 กันยายน เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานในงานอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ และเปิดโอกาสให้เยาวชน ประชาชน นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานที่กำหนดนโยบายได้รับรู้และตระหนักถึงความหลากหลายแห่งศักยภาพของทรัพยากรไทย

โอกาสนี้ ทรงทอดพระเนตรการแสดงชุด “คีตาขับขานตำนานเมืองนคร” จากนั้นนายพรชัย จุฑามาศ กราบบังคมทูลเบิกฯผู้เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบทุนมูลนิธิ อพ.สธ.พระราชทานเกียรติบัตรงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ขั้นที่ 1 / ป้ายสนองพระราชดำริในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และป้ายสนองพระราชดำริในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น และทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 11

จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการการนำเสนอผลงานของ อพ. สธ.และหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ และจากภูมิภาคต่างๆ อาทิ นิทรรศการเจ้าฟ้านักอนุรักษ์ และแผนแม่บทที่ 5  ปีที่ 7 ของ อพ.สธ. ซึ่งได้กำหนดแผน ที่จะนำฐานข้อมูลทรัพยากรดิจิทัล มาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรของประเทศไทย ใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ ช่วยในการขึ้นทะเบียนทรัพยากร การรักษาสิทธิ์ให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นได้เห็นคุณและรู้ค่าของทรัพยากรที่มีอยู่และนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งจะทำให้การเก็บข้อมูลถูกต้อง รวดเร็ว ลดข้อผิดพลาด และลดการใช้กระดาษ / นิทรรศการ อพ.สธ. ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนองานวิจัยในพื้นที่ตั้งแต่เทือกเขา ถึงทะเล อาทิ  นิทรรศการ "จุลินทรีย์เทือกเขาหลวง ทรัพย์สิ่งสินตน เกิดประโยชน์แก่มหาชน" เป็นงานวิจัย ที่ค้นหาและรวบรวมจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่มีประโยชน์ต่อการปลูกพืช ทดสอบและคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมต่อการใช้งาน และต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด  / พืชจาก ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำ ส่งเสริมให้ใช้ภูมิปัญญาทัองถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ยังคงอนุรักษ์อัตลักษณ์ประจำถิ่น / ปูม้า ทรัพยากรทางทะเล จัดทำธนาคารปูม้า แนวทางการปล่อยปูม้าที่เหมาะสมกับชุมชน และการประยุกต์ศิลปวัฒนธรรมเมืองนคร

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และนิทรรศการฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการประชุมวิชาการ การบรรยายพิเศษ  การนำเสนอผลงาน โดยผู้เรียน และเยาวชน /การประชุมวิชาการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น จากคณะผู้บริหารและนักวิชาการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมสนองพระราชดำริได้ทบทวนศักยภาพ ความสามารถ ตลอดจนจัดการฐานข้อมูลต่างๆที่มี เพื่อร่วมนำเสนอข้อมูลที่แสดงถึงศักยภาพของทรัพยากรไทยเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ การแสดงจากสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน การออกร้านจำหน่ายอาหาร และสินค้าพื้นบ้านอีกด้วย