Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดพิธีเปิดการประชุมวิชาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและการประชุมวิชาการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น

อัพเดท : 20/09/2565

878

            วันนี้ (20 ก.ย.’65) เวลา 08.30น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดพิธีเปิดการประชุมวิชาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและการประชุมวิชาการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ภายในงานการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย:30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. - ม.วลัยลักษณ์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ โดยมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ คณะผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักเรียนในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งศูนย์แม่ข่ายและศูนย์ประสานงานอพ.สธ. จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ ห้องประชุมศรีธรรมราช อาคารปฏิบัติการทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์รู้สึกซาบซื้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่อพสกนิกรในภาคใต้และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อย่างหาที่สุดมิได้ โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ร่วมสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 และทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์ประสานงานอพ.สธ. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยในระยะแรกของ แผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่ห้า และได้ดำเนินงานบนฐานทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ และวัฒนธรรมภูมิปัญญา โดยมีกรอบทำงาน 3 กรอบ 8 กิจกรรม ตามแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ดจนถึงปัจจุบัน

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า ภายใต้การบริหารงานของกระผมนั้น มหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมกับเครื่อข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ให้บริการวิชาการสู่ชุมชนท้องถิ่นและสากล ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) พื้นที่ภาคใต้ตอนบน และต่อยอดนำองค์ความรู้ดังกล่าวเผยแพร่สู่เครือข่าย และเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ในการสร้างจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมภูมิปัญญา ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 6 ในปี 2563 ในวันที่ 26 สิงหาคม 2563 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาตของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้ เลื่อนกำหนดการ เมื่อสถานการณ์โรคติดต่อคลี่คลาย จึงได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตอีกครั้งให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการ ร่วมกับโครงการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยการผนวกรวมการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่นระดับภูมิภาค ครั้งที่ 6 ร่วมกั งานประชุมวิซาการและนิรรศการ ทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน ปี 2564 เป็นการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 11 ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ.ประโยชน์แท้แก่มหาชน โนระหว่างวันที่ 19 - 24 กันยายน 2565 ยิ่งกว่านั้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 อพ.สธ. และ 30 ปีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นับว่าเป็นงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของหน่วยงานสนองพระราชดำริฯ ที่สำคัญยิ่งในการร่วมเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงาน ตามนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมาย ของ อพ.สธ. เพื่อสนองพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริบางประการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากร       

 "การรักในทรัพยากร คือ การรักชาติรักแผ่นดิน รักสิ่งที่เป็นสมบัติของตัวเรา การที่จะให้เขารักประเทศชาติหรือรักษาสมบัติของเขานั้น ทำได้โดยก่อให้เกิดความรักความเข้าใจ ถ้าใครไม่รู้จักกัน เราก็ไม่มีความสัมพันธ์ไม่มีความผูกพันต่อกัน แต่ว่าถ้าให้รู้จักสิ่งนั้นว่าคืออะไรหรือว่าทำงาน ก็จะรู้สึกชื่นขมและรักหวงแหนสิ่งนั้นว่าเป็นของตน และจะทำให้เกิดประโยชน์”

          อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินงานครั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะมุ่งพัฒนา ส่งเสริมองค์ความรู้ และเชื่อมโยงเผยแพร่องค์ความรู้งานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในพื้นที่ภาคใต้แก่เยาวชนนักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ ทั้งโรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช และประเทศชาติสืบไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขอขอบคุณ และยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอให้ทุกท่านจงมีความปีติในการเพิ่มพูนแนวคิด และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 11 ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน ครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อนำสิ่งที่มีคุณค่านำกลับไปเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาแนวคิด แนวทาง กระบวนการในการดำเนินงานต่อไป และขอขอบคุณคณะวิทยากร ผู้ร่วมนำเสนอผลงาน งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ชมรมคณะปฏิบัติการงานวิทยาการ อพ.สธ. รวมทั้งผู้เข้ารับฟังการนำเสนอผลงาน และผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้ทุกท่าน

          ด้านศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย  ศุภดิษฐ์ กล่าวว่า กระผมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความปีติเปียมล้นในพระกรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับเกียรติ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย: 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน ระหว่างวันที่ 19 -24 กันยายน 2565 มีวัตถุประสงค์ เพื่อ1)เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานในงานอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และงานสนองในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 2) เพื่อนำเสนอผลงานของ อพ.สธ. และหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริในพื้นที่ภาคใด้ และภูมิภาคต่างๆ ที่ดำเนินงานมา 30 ปี 3) เพื่อให้เยาวชน ประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน และผู้กำหนดนโยบาย ได้เห็นประโยชน์จากการดำเนินงาน อพ.สธ.ซึ่งนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรไทย 4) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบ 30 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีรูปแบบในการประชุมและนิทรรศการ ดังนี้คือ 1. การประชุมวิชาการ ประกอบด้วยการประชุมวิชาการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยมีจำนวนคณะผู้บริหาร และครู อาจารย์ บรรยายพิเศษ 4 ผลงาน นำเสนอ 22 ผลงาน โดยผู้เรียนและเยาวชนนำเสนอ 8 ผลงาน,การประชุมวิชาการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น โดยคณะผู้บริหารและนักวิชาการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับเกียรติบัตรงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ขั้นที่ 1 และระดับป้ายสนองพระราชดำริในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น จำนวน 13 ผลงาน,การประชุมวิชาการชมรมคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. ครั้งที่ 10 โดยมีผู้เข้าร่วมนำเสนอในงานประชุมวิซาการจำนวน 101 บทความ โดยมีผู้นำเสนอจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 30 หน่วยงาน 2. นิทรรศการ "30 ปี อพ.สธ. - 30 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ : ประโยชน์แท้แก่มหาชน" ประกอบด้วย นิทรรศการ อพ.สธ. โดยรวบรวมผลงานที่สำคัญ อาทิ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์ และแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่เจ็ด และ นิทรรศการ อพ.สธ.- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 30 ปี จำนวน 4 นิทรรศการเด่น คือ จุลินทรีย์เทือกเขาหลวง ทรัพย์สิ่งสินตน เกิดประโยชน์แท้แก่มหาชน พืซจาก ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำ เพื่อประโยชน์แท้แก่มหาชน ปูม้า ทรัพยากรทางทะเล เพิ่มพูนมากล้น เพื่อประโยชน์แท้แก่มหาชน ศักยภาพมากล้น ศิลปวัฒนธรรม ประยุกต์ศิลป์เมืองนคร เพื่อประโยชน์แท้แก่มหาชน,นิทรรศการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน 76 โรงเรียน,นิทรรศการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นจำนวน 25 แห่งและนิทรรศการหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ 126 หน่วยงานทั่วประเทศ

          ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้ในการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ยังมีการแสดงศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ และการแสดงจากสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นบ้าน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 -24 กันยายน 2565 รวมทั้งงานมหกรรมสินค้าท้องถิ่นภาคใต้โดยรวมร้านค้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ มาจัดแสดง จำนวนกว่า 100 รายการ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15-24 กันยายน 2565 แล้วนั้น ในงานครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานสนองพระราชดำริฯ ทั่วทุกภูมิภาค และหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งประชาชนผู้สนใจทั่วไป นับรวมประมาณวันละ 5,000 คน

          จากนั้น ผู้เข้าร่วมงานรับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง ทรัพยากรไทย : 30 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การบรรยายพิเศษ เรื่อง ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน โดย นายพรชัย จุทามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ การบรรยายพิเศษ เรื่อง บทบาทของศูนย์แม่ข่ายฯ และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.โดย ดร.ปียรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ระดับ 9 และการนำเสนอผลงานวิชาการจากโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ