Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

เปิดเวทีแสดงศิลปะพื้นบ้าน นิสิตนักศึกษา ทั่วประเทศ ร่วมโชว์ความสามารถในงาน อพ.สธ.ที่ม.วลัยลักษณ์

20/09/2565

438

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานเปิดเวทีการแสดงศิลปะพื้นบ้านบูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและการประชุมวิชาการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถานศึกษาทั่วประเทศได้มาแสดงความสามารถด้านศิลปะพื้นบ้านแขนงต่างๆ สลับกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายในงานการประชุมวิชาการและนิทรรศการครั้งที่11  ทรัพยากรไทย:30 ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน ซึ่งม.วลัยลักษณ์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 19-24 กันยายน 2565

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ให้ความสำคัญทางด้านวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช ควบคู่การบูรณาการกับงานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไปด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในท้องถิ่นและประเทศชาติ มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งเวทีการแสดงศิลปะพื้นบ้านที่จัดขึ้นเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถานศึกษาทั่วประเทศได้มาแสดงความสามารถด้านศิลปะพื้นบ้านแขนงต่างๆ สลับกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลายๆเรื่อง อาทิ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างแรงบันดาลใจ

ตลอดจนการมอบเคล็ดลับทักษะแห่งความสำเร็จหลังปี 2022 โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ หรือศิลปินที่เกี่ยวข้องซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนจะเกิดประโยชน์แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์และประชาชนที่มาร่วมงานสมารถนำไปปรับใช้ ต่อยอด ถ่ายทอด ส่งต่อ สร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต หรือปรับใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดีในอนาคต

“ในฐานะเจ้าบ้านขอต้อนรับทุกท่านที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมงานศิลปะพื้นบ้านในครั้งนี้ ขอชื่นชมคณะนักแสดงจากโรงเรียนต่างๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ หรือบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ผู้ฝึกสอน และผู้สนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังการแสดงทุกชุดการแสดง ถือว่าทุกท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านอันทรงคุณค่า ให้ดำรงอยู่ คู่ชาติบ้านเมืองไทย ถือเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติในด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโดยตรงอย่างแท้จริง”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ สมศักดิ์  รักษาการแทนรองอธิการบดี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นเวทีแสดงความสามารถทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนศิลปินพื้นบ้าน สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ปรากฏแก่ประชาชนผู้มาร่วมงาน โดยภายในงานจะมีการแสดงความสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และสมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น การแสดงของชมรมต่างๆ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตลอดจนศิลปินพื้นบ้าน สลับสับเปลี่ยนกับการถ่ายทอดความรู้จากศิลปิน ดารา วิทยากร ในหัวข้อเรื่อง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างแรงบันดาลใจ การสร้างทักษะสู่ความสำเร็จหลังปี 2022 และจะมีพิธีมอบธงให้กับเจ้าภาพครั้งต่อไป คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ภายในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะเจ้าภาพ ได้จัดชุดการแสดง “คีตาขับขาน ตำนานเมืองนคร เพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน ซึ่งเวทีดังกล่าวจะจัดไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2565 ณ เวทีการแสดงศิลปะพื้นบ้านฯ ลานกิจกรรมด้านข้างอาคารสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ข่าว : นางสาวกานต์มณี ศิรวรพันธิ์

ภาพ : นางสาวนตราพร วชิรวิพัฒน์

นักศึกษาช่วยงานอพ.สธ. ส่วนสื่อสารองค์กร