Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของชุมชนด้านเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น

อัพเดท : 13/01/2566

461

          เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 เวลา 10.40 - 14.00 น. ฝ่ายวิชาการรับใช้สังคมและพัฒนาเชิงพื้นที่ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่กลุ่มผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน หมู่ที่ 8 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช  เพื่อสำรวจความพร้อมของชุมชนด้านเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2566 ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับธนาคารออมสิน  

           โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น  ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2560 โดยร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษา  โดยในปี พ.ศ. 2566 มีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ จำนวน 67 แห่ง 335 กลุ่มชุมชน มีกิจกรรมหลักคือการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการศึกษาวิเคราะห์และนำองค์กรทางธุรกิจ มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนแก้ปัญหาในกลุ่มองค์กรชุมชน ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับในการดำเนินกิจกรรมการในครั้งนี้ มีหลากหลายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่จะได้รับการพัฒนามูลค่าของผลิตภัณฑ์ ผลิตผล ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจ อันจะก่อให้เกิดอาชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้มั่นคงกับชุมชน จุดประสงค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มโอกาสทางการตลาด และความพร้อมในการแข่งขันทางธุรกิจ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจรากฐานให้มั่นคงและยั่งยืน ด้วยการดำเนินงาน การวางแผนพัฒนา และแก้ไขประเด็นปัญหาในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการ การจัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กร การบัญชี การตลาด และการประชาสัมพันธ์ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มชุมชน สถาบันอุดมศึกษา และนักศึกษา โดยทางธนาคารออมสินได้พยายามผลักดันให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาสู่การพัฒนาชุมชน  นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ถึงคุณค่าของทรัพยากรและภูมิปัญญาของท้องถิ่น สามารถฝึกทักษะเป็นผู้ประกอบการ มีโอกาสพัฒนาอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

           สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นปีนี้ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลและธนาคารออมสิน จึงได้มีการการบูรณาการภูมิปัญญาของชุมชนร่วมกับวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มองค์กรชุมชน กลุ่ม OTOP และกลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพ ให้มีรายได้เพิ่ม มีศักยภาพในการแข่งขันในทางการตลาด มีระบบการบริหารจัดการ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน และประเด็นสำคัญคือ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะได้มีความรู้กว้างขวาง ไม่เฉพาะเนื้อหาในบทเรียน แต่สามารถประยุกต์ผ่านประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชน เกิดความเข้าใจ หวงแหน สานต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/19304