Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดสัมมนาวิชาการด้านจุลชีพร่วมกับมหาวิทยาลัยนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น

อัพเดท : 19/12/2565

271

     

      สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ จัดสัมมนาร่วมทวิภาคีไทยและญี่ปุ่นเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพกับมหาวิทยาลัยนางาซากิ ระหว่างวันที่ 19 – 20 ธันวาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


      รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์ ดร. จิราพร  ชินกุลพิทักษ์ คณบดีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทร์นรินทร์ ศุภกร รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติ ต้อนรับคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยนางาซากิ นำโดย Professor Kenji Hirayama ซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมการสัมมนาร่วมทวิภาคีเกี่ยวกับการต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมเขาหลวง อาคารสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


     โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า “ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่าน ขอบคุณที่สละเวลาเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การสัมมนาในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน และหวังว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยจะได้ขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆ ในอนาคต”


     มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยคุณภาพแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้ง ที่มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับโดย Times Higher Education World University Rankings 2023 ในอันดับที่ 1,501+ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยทั่วโลก มหาวิทยาลัยได้นำระบบ United Kingdom Professional Standard Framework (UKPSF) มาใช้เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนและเพื่อให้แน่ใจว่าคณาจารย์มีความเป็นมืออาชีพ มีความพร้อมในด้านวิธีการสอน การประเมิน และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มากกว่าร้อยละ 80 ของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอยู่ใน Q1 และ Q2 ในฐานข้มอูล Scopus Indexed Journals และมีจุดแข็งมากที่สุดในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ


     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทร์นรินทร์ กล่าวว่า “การแบ่งปันความรู้และความร่วมมือที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อบรรเทาเหตุร้ายทั่วโลกที่คาดเดาไม่ได้ในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ และหวังว่าการสัมมนาทวิภาคีเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพที่น่ายินดีในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญสู่ความภาคภูมิใจในระดับสากลและการสร้างนวัตกรรมที่มีประสิทธิผลเพื่อประโยชน์ของโลก”


     อาจารย์ ดร. จิราพร กล่าวว่า “ในนามของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ มีความยินดีที่ได้ต้อนรับคณะจากมหาวิทยาลัยนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น หวังว่าการเยี่ยมชมทั้งสองวันนี้จะช่วยให้เราแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการระหว่างสองมหาวิทยาลัยและทั้งสองประเทศในวงกว้างมากขึ้น”


     ด้านศาสตราจารย์เคนจิ ฮิรายามะ กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนจาก School of Tropical Medicine and Global Health, Nagasaki University รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประสบความสำเร็จมากมาย เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับเราที่กำลังมองหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีศักยภาพเช่นนี้ และฉันหวังว่าความสัมพันธ์นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเราทั้งคู่ในเวลาเดียวกัน”


     การสัมมนาร่วมทวิภาคีที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการนำเสนอความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับ AMR และการอภิปรายในหัวข้อการควบคุม AMR แบบบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลท้องถิ่นและชุมชนจากนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นและชาวไทย
     

      ทั้งนี้ การดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็นการจำกัดการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียของผู้ป่วย การสัมมนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับ AMR แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความตระหนักในประเด็นนี้

 

 

 

ข่าวโดย นายเศรษฐบุตร อ่อนภักดี ส่วนสื่อสารองค์กร
แปลไทยโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดย นายวรปรัชญ์ จันทร์ปาน นักศึกษาสหกิจศึกษา ส่วนสื่อสารองค์กร