Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดประชุมวิจัยนานาชาติ WRC 2023 ชูแนวคิด “บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในยุคดิสรัปชั่น"

อัพเดท : 28/03/2566

1154

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) จัดประชุมวิจัยนานาชาติ WRC 2023 ในรูปแบบไฮบริด มีตติ้ง เนื่องในโอกาสครบปีที่ 31 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ภายใต้แนวคิด“บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในยุคดิสรัปชั่น”

          สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มวล. จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “Walailak Research Convention 2023” (WRC 2023)  ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด "บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในยุคดิสรัปชั่น Higher Education in the Disruptive Era " ในรูปแบบไฮบริด มิตติ้ง ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2566 โดยในพิธีเปิดการประชุม ที่ห้องประชุมภัทรธรรมาภรณ์ ชั้น 9 โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มวล.กล่าวต้อนรับ พร้อมกล่าวรายงานการประชุม ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Talent Mobility in the Disruptive World"  โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 19 ประเทศ

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มวล.จัดประชุมวิชาการนานาชาติ WRC 2023 ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบปีที่ 31 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย และเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่การสร้างนวัตกรรม  ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายงานวิจัยในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา 19 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา ติมอร์เลสเต เกาหลีใต้  ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน บังคลาเทศ อินเดีย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี รัสเซียและไทย เข้าร่วม

          “ปีที่แล้ว มวล.มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus จำนวน 740 บทความ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระดับ Q1- Q2 กว่า 80-90%  แต่ปีนี้นับเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจเพราะเรามีบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2023 ระดับ Q1- Q2  90.7% เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ผลงานของ มวล.เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เชื่อว่าการประชุมวิชาการนานาชาติของ มวล. ในวันนี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ทำให้ มวล.เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น และจะส่งเสริมความร่วมมือทางการวิจัย (Research collaboration) กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆมากขึ้นและจะพัฒนาให้ มวล. เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของโลก ที่จะได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในระดับประเทศและระดับสากลต่อไป”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

          ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ กล่าวว่า นโยบายการขับเคลื่อนงานวิจัยของประเทศทาง สอวช.ได้กำหนดนโยบายหลักๆ ใน 3 ด้าน คือ 1) งานวิจัยเชิงนวัตกรรม 2) งานวิจัยระดับแนวหน้า (Frontier research) และ3) งานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) ซึ่งงานวิจัยนวัตรกรรม คือการต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยได้จัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมผ่านทางกองทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ผ่าน Program Management Unit (PMU) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  (บพข.) เพื่อให้การสนับสนุนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงและมีมูลค่าที่สูงขึ้น และในส่วนของงานวิจัยระดับแนวหน้า Frontier research เป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของประเทศได้ในอนาคต เช่น ควอนตัม จีโนม จีโนมิกส์ ทางด้านการแพทย์ เป็นต้น  ซึ่งการนำไปใช้ประโยชน์อาจจะต้องใช้วิทยาการขั้นที่สูงขึ้นไป เพราะฉะนั้นอาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อ และอีกส่วนนึงเป็นงานวิจัยพื้นฐาน ที่เรายังคงให้ความสำคัญ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย Fundamental Fund (FF) เพื่อให้นักวิจัยทำ Basic Research อาจจะในรูปแบบของศูนย์ความเป็นเลิศ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน

          “มวล.เป็นอีกมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยทั้งนวัตกรรมและงานวิจัยระดับแนวหน้า ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้เราอยากเห็นงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันปาล์ม และทางศูนย์ความเป็นเลิศฯ มวล.ก็มีงานวิจัยทั้ง การใช้ต้นปาล์มน้ำมัน การสกัดน้ำมันปาล์ม การทำโรงงานปาล์มขนาดเล็กที่ชาวบ้านสามารถผลิตน้ำมันปาล์มออกมาเป็น National Palm Oil ช่วยเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันให้กับชาวบ้านได้” ดร.กิติพงค์ กล่าว

          สำหรับการประชุมนานาชาติครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ประกอบด้วย Prof. Maree Dinan-Thompson, Deputy Vice Chancellor, Education จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ประเทศออสเตรเลีย และการเสวนาในหัวข้อ "Higher Education in the Disruptive Era" โดย Prof. Peter Pok Man Yuen จาก Hong Kong Polytechnic University ประเทศฮ่องกง และ Prof. Lance Chun Che Fung จาก Murdoch University ประเทศออสเตรเลียและ Prof. Dr. Wu-Yuin Hwang จาก National Central University ประเทศไต้หวัน

          นอกจากนี้มีการมอบรางวัล จภ.ทองคำ แก่นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่สร้างคุณูปการให้แก่สังคมและประเทศ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และรองศาสตราจารย์ ดร.มนัส โคตรพุ้ย สำนักวิชาสหเวชศาสตร์

          ทั้งนี้ภายใต้งาน WRC 2023 ยังมีการประชุมวิชาการ การสัมมนาวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการของศูนย์ความเป็นเลิศ ศูนย์วิจัยต่างๆ ที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กว่า 10 ศูนย์ ผู้สนใจสามารถดูติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://wrc.wu.ac.th

ข่าวโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดย นายวรปรัชญ์ จันทร์ปาน นักศึกษาสหกิจศึกษา ส่วนสื่อสารองค์กร