Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

หน่วยวิจัยไม้ฯ มวล. เวิร์คชอปถ่ายทอดเทคโนโลยีทางไม้

14/12/2555

3972

  

หน่วยวิจัยไม้ฯ ม.วลัยลักษณ์(มวล.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการเลื่อยไม้ การอัดน้ำยาและการอบไม้ยางพารา...จากผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในอุตสาหกรรม พร้อมเปิดศูนย์ มวล.-วช. ศูนย์เทคโนโลยีไม้และไม้ประกอบ โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการโรงงานไม้ยางพาราทั่วประเทศเข้าร่วม
 

หน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้การดำเนินงานของหน่วย มวล.-วช.ศูนย์เทคโนโลยีไม้และไม้ประกอบ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีทางไม้ ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "เทคนิคการเลื่อยไม้ การอัดน้ำยาและการอบไม้ยางพารา...จากผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในอุตสาหกรรม" ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2555 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจากนางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการอบรม ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวรายงานการอบรม
 

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นภาคใต้ เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาความรู้ทางวิชาการของไม้ยางพารา ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศและมีการปลูกกันมากในเขตภาคใต้ จึงได้จัดตั้งหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2547 เพื่อดำเนินงานวิจัยเชิงลึกทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ไม้สำหรับอุตสาหกรรม ภายใต้พันธกิจของหน่วยวิจัยไม้ฯที่ต้องการศึกษาไม้อย่างลึกซึ้ง ประยุกต์ไม้อย่างรู้ค่า เพื่อประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม
 

ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา ทางหน่วยวิจัยไม้ฯ ได้พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านไม้ต่างๆ มากมาย อาทิ การพัฒนากระบวนการผลิตชิ้นไม้อัดเรียงเสี้ยนจากเศษไม้ยางพารา การพัฒนากรรมวิธีการคลี่ไม้ไผ่ การพัฒนากระบวนการอบไม้ การอัดน้ำยาไม้และการเลื่อยไม้ยางพาราประสิทธิภาพสูง การพัฒนาเครื่องวัดความเค้นในไม้ระหว่างการอบ การพัฒนากระบวนการปรับปรุงคุณภาพไม้ยางพาราโดยไม้ใช้สารเคมี การลดการปล่อยสารฟอร์มัลดีไฮด์ในไม้ประกอบ การผลิตไม้ประกอบที่มียางพาราและไม้ปาล์มเป็นไส้ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับโมเลกุลของไม้โดยใช้แสงซินโครตรอน เป็นต้น
 

นอกจากนั้นหน่วยวิจัยไม้ยังผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งในระดับปริญญาตรี โท และปริญญาเอก มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ วารสารในประเทศและงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติอีกกว่า 100 เรื่อง อีกทั้งยังมีความร่วมมือระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยด้านไม้ชั้นนำจากประเทศเยอรมัน อิตาลี นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา อีกกว่า 7 หน่วยงาน
 

ในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีไม้ยางพารา จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยในหน่วยวิจัยไม้ฯ เพื่อให้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูป ซึ่งประกอบด้วย การเลื่อย การอัดน้ำยาและการอบไม้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผลจากการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องดังกล่าวทำให้นักวิจัยในหน่วยวิจัยไม้ฯมีโอกาสพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีจนสามารถนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหรรม จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ มวล-วช ศูนย์เทคโนโลยีไม้และไม้ประกอบขึ้น
 

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีทางไม้ ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "เทคนิคการเลื่อยไม้ การอัดน้ำยาและการอบไม้ยางพารา...จากผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริงในอุตสาหกรรม" จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมไม้ โดยมีผู้ประกอบโรงงานไม้ยางพาราทั้งในเขตภาคใต้และทั่วประเทศ เข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้กว่า 80 ท่าน จาก 30 โรงงาน
 

ด้านนางกาญจนา ปานข่อยงาม กล่าวว่า ในภาพรวมของประเทศการวิจัยถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการวิจัยที่สามารถนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้จริง ถึงแม้จะต้องอาศัยระยะเวลาหลายปีกว่าจะได้องค์ความรู้เหล่านั้นมา แต่เมื่อมันประสบความสำเร็จ องค์ความรู้เหล่านั้นก็จะมีประโยชน์ในวงกว้างและช่วยผลักดัน สนับสนุนผู้ประกอบการให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ ทั้งนี้ในส่วนของวช.มีนโยบายสำคัญที่ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยทั่ว ทั้งประเทศเข้าด้วยกัน ที่ผ่านมามีงานวิจัยที่ที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างมากหลายเรื่อง เช่นเดียวกับการจัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางไม้ในครั้งนี้ ถือเป็นการถ่ายทอดสู่การใช้งานจริงในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ วช.ได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ มวล.-วช.ฯ เพื่อต้องการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไม้ และพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันในอนาคตเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
 

โอกาสนี้ นางกาญจนา ปานข่อยงาม ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร ร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดศูนย์เปิดศูนย์ มวล.-วช. ศูนย์เทคโนโลยีไม้และไม้ประกอบ อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผู้บริหาร ม.วลัยลักษณ์ ผู้บริหาร วช. ตลอดจนผู้เข้าร่วมอบรมร่วมกันเป็นสักขีพยาน โดยภารกิจหลัก 3 ด้านของศูนย์ดังกล่าว คือ ให้บริการทดสอบไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางไม้และผลิตภัณฑ์ทางไม้ และฝึกอบรมเทคโนโลยีทางไม้
 

จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าหน่วยวิจัยไม้ฯ ได้นำผู้เข้าร่วมอบรมเยี่ยมชมศูนย์ มวล.-วช ศูนย์เทคโนโลยีไม้และไม้ประกอบ หน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ รวมถึงการสาธิตผลงานวิจัย นิทรรศการจากผลงานของหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วย
 

สำหรับการอบรมดังกล่าวยังมีการบรรยาย เรื่อง “เหลียวหลังและแลหน้า...อุตสาหกรรมไม้ยางพาราไทย” โดยคุณสุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย การแนะนำหน่วยงาน มวล.-วช ศูนย์เทคโนโลยีไม้และไม้ประกอบ และภาพรวมงานวิจัยเชิงลึกและเชิงประยุกต์ด้านไม้ จากการค้นคว้าวิจัยของนักวิจัยในหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้กว่า 10 ปี โดยหัวหน้าหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ ม.วลัยลักษณ์ พิธีมอบซอฟแวร์สำหรับการออกแบบการเลื่อยไม้ให้กับบริษัทที่แจ้งความจำนงและมีความประสงค์จะนำไปใช้งาน การบรรยายความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับไม้ยางพารา การอัดน้ำยาไม้ยางพารา การอบไม้ยางพาราและการเลื่อยไม้ยางพารา


ภาพและข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์