Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

รศ.ดร.สายฝน เอกวรางกูร: นำงานบริการวิชาการและวิจัยสู่การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงบวกสำหรับนักศึกษา

04/09/2557

164

รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน เอกวรางกูร อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างการบริการวิชาการ การทำงานด้านการวิจัย และการเรียนการสอน โดยทำงานทั้ง 3 ด้านควบคู่และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งคำถามหรือโจทย์ปัญหาด้านการบริการวิชาการจะนำมาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อค้นหาความรู้ใหม่และทำอย่างต่อเนื่องเป็นระบบจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาพยาบาลได้

รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน เอกวรางกูร เป็นคนอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับปริญญาพยาบาลศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2538 เริ่มทำงานในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ได้รับปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2542 จากนั้นได้ผ่านการคัดเลือกเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2543

หลังจากที่ได้ทำงานในฐานะอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นเวลา 2 ปี ด้วยความที่เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน จึงได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก โดยได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาในโครงการพัฒนาอาจารย์ระดับปริญญาเอก สาขาวิชาการพยาบาล ซึ่งระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น ได้ทำงานด้านวิชาการและการวิจัยควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้มีผลงานเพียงพอในการขอตำแหน่งทางวิชาการ โดยได้รับตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” ในปี พ.ศ. 2548 ก่อนสำเร็จการศึกษาปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการพยาบาลจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปี พ.ศ. 2549 และในปี พ.ศ. 2555 ได้รับตำแหน่ง “รองศาสตราจารย์”

รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำงานบริการวิชาการ งานวิจัย และงานสอนว่าเริ่มจากการให้การปรึกษากับเด็กและเยาวชนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ที่ถูกส่งต่อเข้ามารับการดูแลช่วยเหลือช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2543-2546 เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและภาวะซึมเศร้าซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการตามวัย รวมทั้งการต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม สื่อ เทคโนโลยี และความคาดหวังของสังคมต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งหากผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ร่วมมือกันอย่างจริงจัง และมีเครื่องมือการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอจะสามารถช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้กลายเป็น “ผู้รอด” ได้

ดังนั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2557 รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน จึงรับดำเนินงานโครงการบริการวิชาการควบคู่กับการทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์งานของพื้นที่และนำผลงานที่ได้รับจากทั้ง 2 ภารกิจมาพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ในงานประจำ โดยสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิ Path2Health ภายใต้การสนับสนุนหลักจากกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรค และมาเลเรีย (Global Fund) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพื้นที่ในลักษณะของการร่วมลงทุน (Matching Fund) ผลักดันการดำเนินงานป้องกันเอดส์และสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศของกลุ่มเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมเพศวิถีศึกษารอบด้านสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา (โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ) ภาคใต้” โดยปี พ.ศ. 2547-2550 รับผิดชอบเฉพาะเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ต่อมาปี พ.ศ. 2551-2554 รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน ได้ดำเนินงานในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบนที่กองทุนโลกคัดเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องของการพัฒนา ได้แก่ นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา และระนอง ผลงานดังกล่าวได้รับโล่เชิดชูเกียรติการบริการวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 21 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในปี พ.ศ. 2556 และปี พ.ศ. 2555-2557 รับหน้าที่หลักในการเป็นนักวิชาการโครงการขยายผลการดำเนินงานครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ มุ่งเน้นการบริการวิชาการ งานวิจัย และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สามารถตอบโจทย์และพัฒนาแนวทางการดำเนินงานโครงการของพื้นที่ให้บรรลุตามเป้าหมายหลักคือการร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศวิถีศึกษารอบด้าน (Comprehensive Sex Education) หรือวิชาชีวิตผ่านกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) และการพัฒนาเยาวชนเชิงบวก (Positive Youth Development) เพื่อพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ความสามารถในการตัดสินใจเลือก และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเลือกบนพื้นฐานของการมีข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านสำหรับเด็กและเยาวชน

ผลงานการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังจากประสบการณ์เข้าร่วมโครงการของครูและเยาวชนภาคใต้ตอนบน ปี พ.ศ. 2553 ชื่อ “ระหว่างทาง...การเปลี่ยนแปลง” แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ การเจริญเติบโต วุฒิภาวะ ความสามารถด้านการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ การตัดสินใจเลือก รวมทั้งการรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของการมีข้อมูลอย่างรอบด้านที่นำไปสู่ความปลอดภัยและสุขภาวะของเด็กและเยาวชน การเกิดทัศนคติเชิงบวก การลดช่องว่าง และการสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างเด็กและเยาวชนกับผู้ใหญ่ รวมทั้งผลการจัดการเรียนรู้จาก “นักศึกษาพยาบาล” ที่ช่วยสะท้อนและเติมเต็มความเป็นครูอย่างตรงไปตรงมาของรองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน ที่ว่า

“...ครูที่ดีไม่ใช่ครูที่ทำให้นักศึกษาได้เกรด A แต่ครูที่แท้จริงต้องสามารถใช้เครื่องมือสอนให้นักศึกษามองเห็นตนเองอย่างเข้าใจ คิดวิเคราะห์ มองเห็นคุณค่า เกิดแรงบันดาลใจ เห็นแนวทางพัฒนาตนเองอย่างเป็นรูปธรรม คอยหันแสงเข้าหาแม้ในสถานการณ์วิกฤต ไม่เผลอเป็นหลุมดำซะเอง เพื่อช่วยให้นักศึกษากลายเป็น ผู้รอด ไม่ใช่ เหยื่อ ของการเรียนรู้ และความท้าทายของครู คือ การสอนให้สำเร็จไม่ใช่สอนให้เสร็จ...”

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน ยังได้บอกเล่าถึงความประทับใจในเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) และการพัฒนาเยาวชนเชิงบวก (Positive Youth Development) ที่ใช้การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการคิดวิเคราะห์และได้คำตอบที่เหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขด้วยตนเอง ถือเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ที่ช่วยให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาเกิดการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน เข้าใจกันมากขึ้น ส่งผลให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าว บรรยาย หรือสอนเช่นเดิม จนได้รับการยกย่องเป็นอาจารย์ดีเด่นด้านการเป็นครู มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีพุทธศักราช 2556 เข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2556 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา

ด้านการทำวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน ได้เชื่อมโยงงานทั้ง 3 ด้านเข้าด้วยกัน คือ การทำวิจัย การบริการวิชาการ และการเรียนการสอน โดยเริ่มจากคำถามหรือโจทย์ปัญหาด้านการบริการวิชาการ ซึ่งกระบวนการวิจัยคือทางออกสำคัญในการช่วยค้นหาความรู้ใหม่อย่างเป็นระบบ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดงานบริการวิชาการ เมื่อกระบวนการส่งต่อความรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสามารถบรรลุเป้าหมายของการทำงานแล้ว ก็นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาพยาบาลทั้งรายวิชาทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งผลิตคู่มือการสอนการสร้างเสริมสุขภาพในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตเรื่อง “พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ”

จากการเชื่อมโยงการทำวิจัย การบริการวิชาการ และการเรียนการสอนเข้าด้วยกัน ทำให้ ผลงานการสร้างสรรค์ ประเภทวรรณกรรม ลักษณะงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน” ที่อาจารย์อุไร จเรประพาฬ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน ดำเนินการได้ผ่านการรับรองของกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เลขที่ 199724 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ทั้งยังได้แต่งหนังสือ “รู้จัก เข้าใจ ดูแลภาวะซึมเศร้า” รวมทั้งบทความทางการวิจัยและวิชาการอีกกว่า 30 เรื่อง เช่น เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการคิดวิเคราะห์กับพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่น เผยแพร่ทางวารสารพยาบาล เรื่อง กระบวนการมีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศด้วยการพัฒนาต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน ภาคใต้ตอนบน เผยแพร่ทางวารสารเกื้อการุณย์ เรื่อง Effectiveness of brief cognitive-support treatment in mild to moderate depressed Thai adolescent students เผยแพร่ทาง Thai Journal of Nursing Research เรื่อง การบูรณาการกระบวนการจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การติดตามสนับสนุน และการพัฒนาเชิงบวกกับการพัฒนาสมรรถนะและความภาคภูมิใจในวิชาชีพของนักศึกษาพยาบาล เผยแพร่ทางวารสารเกื้อการุณย์ และได้รับรางวัลที่ 2 ของผลงานสร้างสรรค์/นวัตกรรมที่ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ ในการประชุมพยาบาลศาสตร์ศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 6 เรื่องการจัดการศึกษาพยาบาลในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาโครงงานวิจัย ได้รับโล่เกียรติคุณกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ประเภทชมเชยจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะกรรมการชุดต่าง ๆ และทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพพยาบาล เช่น คณะทำงานจัดทำสมรรถนะพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลจิตเวช ดำเนินการโดยสภาการพยาบาล ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน ได้ตั้งเป้าหมายในฐานะอาจารย์และนักวิจัยไว้ว่าจะพัฒนา กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงบวกเพื่อผลิตบัณฑิตพยาบาลให้เป็นผู้รู้จักและเข้าใจตนเอง สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ตัดสินใจเลือก และรับผิดชอบผลจากการเลือกปฏิบัติทั้งด้านการใช้ชีวิตต่อตนเองและการปฏิบัติการพยาบาลกับผู้ใช้บริการทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชนบนพื้นฐานของการมีข้อมูลรอบด้านอย่างเข้าใจและภาคภูมิใจในวิชาชีพพยาบาล ขณะเดียวกันจะพัฒนางานวิจัยที่มุ่งตอบโจทย์และรองรับการดำเนินงานบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อส่งต่อความรู้ที่เกิดขึ้นให้คนทำงานและผู้เกี่ยวข้องเกิดความเชื่อมั่นและเกิดแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ด้วยความเชี่ยวชาญและความชอบในงานด้านสุขภาวะวัยรุ่น การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศสำหรับเด็กและเยาวชน ภาวะซึมเศร้าและการจัดการ ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจ “ในการเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดกระบวนการจัดการเรียนรู้และการพัฒนาเชิงบวกกับเด็กและเยาวชนผ่านงานบริการวิชาการ งานวิจัย และงานสอนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ที่สำคัญการมีเพื่อนร่วมทางจากเครือข่ายคนทำงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกัลยาณมิตร เช่น มูลนิธิ Path2Health ช่วยให้มองเห็นจุดอ่อนและแนวทางการพัฒนาตนเองอย่างตรงไปตรงมา


สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง