Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

แนะนำนักวิจัย มวล. : ดร. สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ เจ้าของทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเรฯ ปีล่าสุด

11/03/2556

7583

 
 
ดร. สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ประจำปี 2555 ในหัวข้อ ระบบตรวจสอบและบริหารการใช้พลังงานอัจฉริยะภายในครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้ความสนใจตั้งแต่ศึกษาระดับปริญญาเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
ดร.สุรัสวดี เป็นคนจังหวัดตรังโดยกำเนิด จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง โดยสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี พ.ศ.2540 จากนั้น ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลัง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ผศ.ดร. สมบูรณ์ แสงวงค์วาณิชย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ระหว่างศึกษาต่อระดับปริญญาโทในปี 2545 ดร.สุรัสวดี ได้รับทุนพัฒนาอาจารย์ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้กลับมาทำงานชดใช้ทุนภายหลังสำเร็จการศึกษา โดยสังกัดสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร
 
ต่อมาในปี 2550 ดร. สุรัสวดี ได้รับทุน กพ. (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เน้นเทคโนโลยีพลังงาน ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ The University of Texas at Arlington ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยศึกษาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับพลังงานลม “Wireless Health Monitoring and Improvement System for Wind Turbines” โดยมี Professor Dr. Wei-Jen Lee ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และดำรงตำแหน่ง IEEE Fellow ของ Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE society) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และได้กลับมาทำงานชดใช้ทุนภายหลังสำเร็จการศึกษา ในเดือนมกราคม ปี 2555
 
ขณะที่ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสหรัฐอเมริกา ดร. สุรัสวดี ได้มีโอกาสร่วมทำวิจัยกับบริษัทเอกชนในตำแหน่ง ผู้ช่วยวิจัย Graduate Research Associate (GRA) เช่น โครงการวิจัย Analysis of NYPA Dynamic Thermal Circuit Rating for Smart Grid (Phase II) ร่วมกับหน่วยงาน New York Power Authority , โครงการวิจัย A Novel Wireless Sensor Network with Advanced Prognostic Algorithms for Condition Based Maintenance of Critical Power Plant Components (Phase II) ร่วมกับบริษัท Signal Processing, Inc. , โครงการวิจัย The feasibility and potential for renewable energy co-generation in West Texas ร่วมกับบริษัท NextEra Energy Resources ,LLC ทั้งยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภททีม ด้านการออกแบบระบบพลังงานไฟฟ้าผสมผสานแสงอาทิตย์และลม จากศูนย์ Center for the Commercialization of Electric Technologies (CCET) โดยได้รับเงินรางวัล $ 2,000.00 พร้อมโล่เกียรติยศ
 
ความสนใจศึกษาเรื่องเทคโนโลยีพลังงานของ ดร. สุรัสวดี เริ่มต้นจากประสบการณ์โดยตรงที่ได้รับจากนวัตกรรมใกล้ตัว ระหว่างการศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา คือ เครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เช่น ในเมืองดัลลัส ชิคาโก หรือ นิวยอร์ก แม้ว่า อาคาร บ้านเรือน และประชากรจะมีความหนาแน่นมาก จนแทบจะไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ แต่อาคารที่มีอยู่เดิมนั้น ได้รับการปรับปรุงให้มีฟังก์ชั่นการผลิตพลังงานไฟฟ้าและใช้นวัตกรรมการประหยัดพลังงานใหม่ๆ อยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่ต้นสายการผลิตไฟฟ้า การเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้ ไปจนถึงการส่งจ่ายพลังงานที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ เช่น ผลการทดลองบางพื้นที่ในเมืองชิคาโก้ ได้ถูกประมวลไว้เป็นภาพกราฟิกซึ่งแทนการใช้พลังงานด้วยสีแดง (ใช้มาก) สีส้ม (ปานกลาง) ไปจนถึงสีเขียว (ประหยัดพลังงานได้มากที่สุด)
 
ในส่วนของประเทศไทยยังคงมีระบบส่งจ่ายไฟฟ้าแบบล้าหลัง ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมนับตั้งแต่มีการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าครั้งแรกเมื่อประมาณ 125 ปีก่อน ซึ่งเป็นรูปแบบการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าแบบสื่อสารทางเดียว คือ จากระบบผลิตกำลังไฟฟ้า จ่ายกำลังไฟฟ้าไปยังครัวเรือน ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นในระบบไฟฟ้าเป็นอย่างมาก ขาดระบบการบริหารการจัดการระหว่างปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมทั้งจากด้านผู้ผลิต (Supply side) และปริมาณความต้องการไฟฟ้าด้านผู้ใช้ไฟ (Demand side) ขาดระบบรองรับการจัดเก็บพลังงานในอุตสาหกรรมการผลิตไฟ จึงไม่สามารถจัดสรรพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ในระบบในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ตลอดจนการจัดเก็บค่าไฟฟ้ายังคงอาศัยพนักงานออกไปทำหน้าที่จัดเก็บ ฯลฯ
 
ดังนั้น ในปีแรกหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ดร. สุรัสวดี ได้เริ่มต้นงานวิจัยชิ้นแรกจากสิ่งใกล้ตัวคือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือน ซึ่งในประเทศไทยผู้ใช้ไฟมิได้คำนึงถึงความจำเป็น แต่คำนึงถึงความสะดวกสบายเป็นหลัก โดยอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน อาจจะใช้พลังงานสูงโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว ตลอดจนระบบการชำระค่าไฟฟ้าเป็นแบบใช้ไฟก่อนแล้วจึงชำระค่าไฟฟ้าภายหลัง ซึ่งผู้ใช้ไฟไม่สามารถตรวจสอบยอดค่าใช้ไฟฟ้าระหว่างเดือนได้ จึงสนใจศึกษาการออกแบบประยุกต์ใช้ฟังก์ชันการทำงานของมิเตอร์อัจฉริยะ(Smart Meter) ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของโครงข่ายไฟฟ้าที่มีอยู่ในประเทศไทย เทคโนโลยีจอแสดงข้อมูลการใช้พลังงานในบ้านด้วยระบบไร้สาย (Wireless In-home Display Unit : IHD) ตลอดจนออกแบบระบบบริหารการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดแบบอัติโนมัติ
 
หากการศึกษาและดำเนินการสำเร็จดังที่ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ ได้วางแผนไว้ คาดว่า ภายใน 10 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และวิจัยเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่มีระบบการเชื่อมต่อโครงข่ายภายในแบบอัจฉริยะ มีระบบตรวจสอบและบริหารการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด อีกทั้งสามารถรองรับการผลิตพลังงานทดแทนตามที่มหาวิทยาลัยมีศักยภาพ เช่น แสงแดด ชีวมวล ลม ถึงตอนนั้นเราอาจจะได้เห็น WU Near-Zero Energy University ก็เป็นได้
 
ผลงานวิจัยและวิชาการ