Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นายกสภา มวล.ชี้ 4 แนวทาง การปรับตัวของ มวล.“รู้ รับ ปรับ รุก”

อัพเดท : 02/04/2556

3154

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ก่อตั้งและอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การปรับตัวของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในบริบทของการอุดมศึกษาไทย” เนื่องในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบปีที่ 21 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยได้พูดถึง 4 แนวทางในการปรับตัวของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ “รู้ รับ ปรับ รุก”

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ได้พูดถึงแนวทางการ “รู้ รับ ปรับ รุก” เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในประชาคมโลกและในประเทศไทย รวมทั้งการแข่งขันที่เข้มข้น ว่า “การรู้” ถึงภาพอนาคตที่จะมีผลกระทบต่อโลก ประเทศ และอุดมศึกษาไทย จำเป็นต้องวิเคราะห์ภาพอนาคตที่กระทบกับอุดมศึกษาไทยให้ชัดเจน เช่น โครงสร้างประชากรของไทยที่มีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยในปี 2563 ประชากรในระดับอุดมศึกษา อายุระหว่าง 18-21 ปี จะมีเพียง 3 ล้าน 7 แสนคน จากปัจจุบันที่มี 4 ล้าน 3 แสนคน ลดลงประมาณ 6 แสนคน ดังนั้น จำนวนนักศึกษาจะลดลง การแพทย์มีความเจริญมากขึ้น ประชากรอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น กลุ่มลูกค้าใหม่ของสถาบันอุดมศึกษาจึงเป็นกลุ่มคนสูงวัย ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นเรื่องสำคัญ ด้านเศรษฐกิจได้เกิดกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน ด้านเทคโนโลยีจะต้องมีและรู้จักใช้เทคโนโลยี ด้านโลกาภิวัตน์ : Internationalization และ Regionalization ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล การศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงต้องมีความเป็นสากลและสัมพันธ์กับท้องถิ่น การสื่อสารระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในระดับ International Communication รวมทั้งการเผชิญกับการแข่งขันกันในระดับ Regionalization ด้วย การพัฒนาต้องอาศัยศาสตร์ทุกสาขา ด้านภาษา สังคมและวัฒนธรรม จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้น

การรู้เรื่องอัตลักษณ์และศักยภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เช่น การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่มีระบบการจัดการเป็นของตนเอง ได้รับงบประมาณในลักษณะ Block Grant มีพื้นที่มากที่สุดต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน จึงมีความเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาและบุคลากรสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ นอกจากสิ่งจำเป็นที่ต้องอาศัยจากภายนอก มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ มีอาคารเรียนรองรับการเรียนการสอนและการทำกิจกรรม ได้มีการจัดทำแผนแม่บทและขอพระราชทานชื่อเป็น “อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ” ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จำนวน 11 อุทยาน โดยมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และฟาร์มมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานการศึกษา นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์ที่มีการจัดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ ประเทศและนานาชาติได้ อัตลักษณ์สุดท้ายคือ การรวมบริการ ประสานภารกิจ ดังนั้น การรู้จักโลก รู้จักประเทศไทย และรู้จักมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นฐานข้อมูลสำคัญของการปรับตัวของมหาวิทยาลัย

“การรับและการปรับตัว”ด้านสังคมและวัฒนธรรมสู่ประชาคมโลกและประชาคมอาเซียน ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า ต้องมีการปรับหลักสูตรและการเรียนการสอน เพิ่มสาระความรู้และความตระหนักสำนึกในความเป็นสากลและความเป็นอาเซียนโดยไม่ทิ้งความเป็นไทย เพิ่มทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษากลาง อาจเพิ่มภาษาจีน ควบคู่กับความเข้มแข็งในภาษาไทย ขยายการเปิดสอนภาษาถิ่นของประเทศเป้าหมาย และจัดการศึกษานานาชาติในสาขาที่พร้อมและมีความต้องการสูง เช่น Asian Study

“การรุก” เตรียมแรงงานความรู้และความเข้มแข็งทางวิชาการตามความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ ประกอบด้วย การพัฒนาสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษให้ใช้ในการทำงานได้ พัฒนาสมรรถนะด้านการประกอบอาชีพและการทำงานข้ามวัฒนธรรม เช่น ประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย กาจัดสหกิจศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีแต้มต่อทางด้านนี้ ถือเป็นจุดแข็งและจุดขายของมหาวิทยาลัย พัฒนาคณาจารย์ให้มีสมรรถนะสากลมากขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งพัฒนาวิชาการและการวิจัยสู่ความเป็นเลิศซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและทิ้งไม่ได้

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวโดยสรุปว่า มหาวิทยาลัยสร้างแล้วดำรงอยู่คู่สังคมตลอดไป โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความดีเด่นของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ความแตกต่างมากกว่าความเหมือน จึงต้องมีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์และนวัตกรรม ความเป็นเลิศที่โดดเด่นเป็นการเฉพาะของแต่ละแห่ง และการเสริมสร้าง “วัฒนธรรมคุณภาพ” ในทุกภารกิจให้เกิดขึ้นในบุคลากรทุกกลุ่มในมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน

สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
ธีรพงศ์ หนูปลอด ภาพ