Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

แนะนำนักวิจัย มวล. : ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เน้นการสร้างสรรค์งานวิชาการด้านการบริโภคอย่างยั่งยืน

อัพเดท : 01/05/2556

8649

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยทางด้านการตลาดสมัยใหม่ และการบริโภคอย่างยั่งยืนที่มุ่งเป้าหมายการพัฒนางานวิจัยและงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เป็นชาวราชบุรี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด (เกียรตินิยมอันดับ 2) และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติงานตำแหน่งอาจารย์สำนักวิชาการจัดการ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ จากนั้นได้รับทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการพลเรือน หรือ (ก.พ.) ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขาการตลาด ที่ University of Exeter ประเทศสหราชอาณาจักร

ด้วยความมุ่งมั่นและสนใจงานด้านการบริหารธุรกิจและการตลาดตามที่ได้ศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ประกอบกับแนวคิดในการทำงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ คือ การตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หากเราตั้งใจและเริ่มต้นลงมือทำ ดังนั้น ในฐานะอาจารย์และนักวิชาการ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานวิจัยทางด้านบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการตลาดและการบริโภคให้อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางการตลาด ได้จัดตั้งกลุ่มวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืนและได้ยกระดับเป็นหน่วยวิจัยภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งภายใต้ภารกิจการเป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน หรือ Consumption and Sustainable Economy Research Unit (CSE) ได้มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งทางด้านบริหารธุรกิจและการจัดการให้กับภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่นในภาคใต้ โดยผลิตผลงานทางวิชาการทั้งงานวิจัย บทความวิจัย บทความวิชาการและตำรา รวมทั้งการให้บริการวิชาการกับประชาชนและหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะนักวิจัยและนักวิชาการจากหลากหลายสหสาขาวิชาด้านบริหารธุรกิจ อาทิ การเงิน การตลาด การบัญชี การท่องเที่ยว การจัดการ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ เป็นสมาชิกของหน่วยฯ ที่มีเป้าหมายในการร่วมสร้างโอกาสตามนโยบาย “สร้างเสริมสังคมเข้มแข็ง” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แนวทาง ที่จะนำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไปสู่การเป็นอุทยานการศึกษาแห่งการสร้างโอกาส ซึ่งในปีที่ผ่านมา ทางหน่วยฯ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานภายนอกกว่า 4 ล้านบาท

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ได้ดำเนินการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านธุรกิจชุมชน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างตราสินค้า ซึ่งเป็นสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทุนงบประมาณแผ่นดิน และทุนพัฒนาขีดความสามารถนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีผลงานวิจัยที่โดดเด่น ได้แก่ การตีพิมพ์แนวคิดใหม่ทางการตลาดในหัวข้อ Value Co-Creation ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทางการตลาด ในวารสาร Marketing Theory การนำเสนอการสร้างตราสินค้าด้วยแนวคิดจิตวิญญาณ (Spiritual Branding) ในวารสาร European Advances in Consumer Research และการมุ่งเน้นการตลาดเชิงพุทธที่บูรณาการองค์ความรู้ทางด้านการตลาด เศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดเชิงพุทธในการสร้างแนวคิดการบริโภคแบบมีจิตสำนึกที่จะนำไปสู่การบริโภคที่คำนึงถึงตนเอง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ในวารสาร Advances in Consumer Research รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีประชุมทางวิชาการระดับชั้นนำในระดับนานาชาติทางด้านการตลาด และได้รับเชิญให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตีพิมพ์บทความวิจัยทางด้านการตลาดและการบริโภคระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล ISI หลายฉบับด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหลายแห่ง อาทิ การดำเนินงานภายใต้โครงการ IBEG สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการให้คำปรึกษาทางด้านการตลาดและตราสินค้าแก่ขนมกะหรี่ปั๊บ บ้านครูยุ รวมทั้งการดำเนินงานร่วมกับโครงการ NIA สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้คำปรึกษาทางด้านการตลาดและตราสินค้าแก่ผู้ประกอบการแผ่นพื้นรองเท้าเพื่อสุขภาพ “Smile Feet” เป็นต้น


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ กล่าวในตอนท้ายถึงความภาคภูมิใจของการเป็นนักวิจัยและครู คือ การได้นำความรู้จากการวิจัยถ่ายทอดไปยังลูกศิษย์ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ในแวดวงการธุรกิจและการตลาดให้กับลูกศิษย์ รวมทั้งสนับสนุนภาคปฏิบัติโดยส่งเสริมให้เข้าร่วมกิจกรรมการตลาดและการประกวดที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้น ซึ่งผลพลอยได้ที่เป็นกำลังใจให้กับการทุ่มเททางด้านการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา คือ การเห็นลูกศิษย์เหล่านั้นสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศได้ทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศไทย



ประวัติและผลงาน