Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักศึกษาทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม. วลัยลักษณ์

อัพเดท : 15/05/2556

5177



นางสาววลัยลักษณ์ พัฒนมณี นักศึกษาหลักสูตรดุษฏีบัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมเกษตร (เทคโนโลยีชีวภาพ) สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเป็นนักศึกษาทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก รุ่นที่ 10 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และ Prof. Dr. Yusuf Chisti จาก Massey University ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม

นางสาววลัยลักษณ์ เป็นนักศึกษารุ่นที่ 2 ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในหลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร โดยศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาเอกและได้รับทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก รุ่นที่ 10 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เดินทางไปทำวิจัยและหาประสบการณ์เพิ่มเติมที่ Massey University เมือง Palmerston North ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ถึง 4 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรให้ความสำคัญกับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการพัฒนาศัยกภาพด้านการวิจัย

“ก่อนที่จะเดินทางไปทำวิจัยที่ Massey University รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ติดต่อประสาน งานให้ Prof. Dr. Yusuf Chisti เป็นที่ปรึกษาร่วมในการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในครั้งนี้ และช่วงที่ศึกษาที่ Massey University ได้วางแผนทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลของชนิดและระดับความเข้มข้นของคาร์บอนต่อการผลิตไฮโดรเจนโดยแบคทีเรียสังเคราะห์แสง Rhodobacter sphaeorides S10 โดยความเห็นชอบของ Prof. Dr. Yusuf ก่อนที่จะเดินทางไปทำวิจัย โดยเรื่องที่ศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เรื่อง กระบวนการผลิตแบบกะซ้ำสำหรับการผลิตไฮโดรเจน และการใช้อาหารจากการเพาะเชื้อสำหรับการผลิตไฮโดรเจนผลิตโคเอนไซม Q10 ด้วยแบคทีเรียที่คัดเลือกไว้สายพันธุ์ S10” นางสาววลัยลักษณ์ เล่าให้ฟัง


นางสาววลัยลักษณ์ ไ้ด้เล่าประสบการณ์ด้านการทำวิจัยที่ Massey University ว่า "ห้องวิจัยที่ดิฉันปฏิบัติงาน เรียกว่า Micro lab นักศึกษาที่ทำการทดลองเกี่ยวกับจุลินทรีย์ทั้งหมดจะปฏิบัติงานอยู่ในห้องแล็บนี้ ทั้งนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีอาหารหรือด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ดิฉันได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของเพื่อนๆต่างชาติ เช่น การศึกษาการเกิด N2O จากการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในระบบเปิด การศึกษาการผลิต biopolymer จากแบคทีเรีย เป็นต้น"

ก่อนจะเริ่มงานหรือเข้าแล็บได้ จะต้องได้รับการชี้แจง เรียนรู้และจดจำเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติในห้องแล็บ การปฐมพยาบาลและช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น และทางหนีไฟต่างๆ ซึ่งทุกๆปี ทางมหาวิทยาลัยจะมีการซ้อมการอพยพ ไม่ว่าจะทำการทดลองอะไรอยู่ก็ตาม ต้องละทิ้งงานต่างๆทั้งหมดและออกจากตัวตึกให้เร็วที่สุด และไปรวมตัวที่จุดรวมพล ทุกคนจะสามารถเข้าตึกได้อีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณบอกว่าเข้าตึกได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทำงานในห้องวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของทุกคนที่อยู่ในแล็บ

ที่ห้องแล็บจะมีเครื่อง autoclave (เครื่องฆ่าเชื้อ) เพียง 2 เครื่อง และใช้ไอน้ำที่ปล่อยมาจากส่วนกลาง ตั้งแต่ 7.30-17.00 น. ทำให้ต้องมีการวางแผนการทำงานล่วงหน้า เพื่อเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับงานวิจัย เพราะหลังเวลาทำงาน ช่วงปิดเทอม ช่วงวันหยุดต่างๆ วันเสาร์และอาทิตย์ ไม่สามารถใช้เครื่องมือนี้ได้ สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ เช่น HPLC, GC และกล้องจุลทรรศน์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีเพียงไม่กี่เครื่อง เมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่ใช้งาน แต่มหาวิทยาลัยสามารถจัดสรรการใช้งานเพื่อให้เครื่องมือดังกล่าวเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด หากเครื่องมือเกิดขัดข้องจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลและซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ทันที สิ่งที่ประทับใจคือ เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความเป็นกันเอง ช่วยเหลือและคอยประสานงานและจัดหาอุปกรณ์ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

การเดินทางไปทำวิจัยที่ประเทศนิวซีแลนด์ด้วยทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก เป็นการเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเต็มไปด้วยประสบการณ์ดีๆมากมาย สอนให้ดิฉันเรียนรู้การใช้ชีวิตคนเดียว การปรับตัวและกล้าที่จะสนทนากับเพื่อนต่างชาติ เปิดโลกทัศน์และเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการวิจัย สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการทำงานวิจัยในอนาคต ที่สำคัญได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาการทำวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ดิฉันต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองท่าน และเพื่อนๆ ทุกคน ที่ ทำให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นางสาววลัยลักษณ์ พัฒนมณี กล่าวในตอนท้าย