Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดเวิร์คชอป International Coral and Reef Fish

อัพเดท : 16/05/2556

2856

ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ จัดประชุมนานาชาติ International Coral and Reef Fish workshop เชิญนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมให้ความรู้ เพื่อการศึกษาและดูแลระบบนิเวศของปะการังอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ (Center of Excellence for Ecoinformatics) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน Ecoinformatics จัดอบรมเชิงปฎิบัติการเรื่อง การออกแบบและวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาปะการังและปลาในแนวปะการัง (International Coral & Reef Fish Workshop) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สวทช. และได้รับเกียรติจาก Prof. Sally Holbrook, Prof. Russ Schmitt และ Dr. Andrew Brooks จาก University of California Santa Barbara, USA และ ดร.นิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ จาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (Phuket Marine Biological Center) เป็นวิทยากร โดยได้รับความสนใจนักศึกษาระดับปริญญาตรี ม.เกษตรศาสตร์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ ม.วลัยลักษณ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอกจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาบาร่า (University of California Santa Barbara- UCSB) ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้าร่วมอบรม

รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณะเดช กล่าวต่อไปว่า สืบเนื่องจากทางทีมงานศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน Ecoinformatics ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ Coral sensor network ที่เกาะราชา จ. ภูเก็ต ร่วมกับ CREON (Coral Reef Environmental Observatory Network) และ Australia Institute of Marine Science, UCSD, UCSB และ UCSB เห็นว่าถ้าได้มีการเก็บข้อมูลทางชีววิทยา (ปะการังและปลาในแนวปะการัง) ร่วมด้วยจะทำให้เข้าใจระบบนิเวศปะการังที่เกาะราชาได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมในครั้งนี้ โดยระบบ coral sensor network เป็นการติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความเค็ม และความลึก ณ จุดที่เป็นแนวปะการังที่ระดับความลึก 10 เมตร บริเวณหน้าหาดขอนแค ของเกาะราชา เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อาจจะเกิดปะการังฟอกขาว พร้อมติดตั้งกล้องวิดีโอใต้น้ำเพื่อศึกษาปลาในแนวปะการังและปะการัง เซนเซอร์ดังกล่าวจะแสดงผลแบบ real time online ทำให้เราสามารถติดตามข้อมูลอุณหภูมิของน้ำได้ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ข้อมูลความลึกของน้ำทะเลสามารถนำมาประยุกต์บอกได้ว่าเกิดสึนามิที่เกาะราชา จ. ภูเก็ตหรือไม่ และหากเกิดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกี่เมตร ทำให้สามารถเตือนนักท่องเที่ยวได้อย่างทันท่วงที
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดอบรม จัดขึ้นเพื่อสร้างนักศึกษาระดับปริญญาโท/เอก และนักวิจัยให้มีพื้นฐานทางด้านการออกแบบการทดลอง และการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านปะการังและปลาในปะการังการ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างนักศึกษาที่มีความสนใจทางด้านปะการังและปลาในแนวปะการังทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาและแนะนำมาตรฐานการวิจัยทางด้านปะการังและประชากรปลาในแนวปะการังระดับสากล สำหรับการติดตามการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศปะการรังระยะยาว ทำให้สามารถเปรียบเทียบระหว่างเวลาและระหว่างแนวปะการังจุดอื่นๆ ในประเทศไทยได้ โดยผู้อบรมได้ทำการสำรวจแนวปะการังบริเวณอ่าวขอนแคและอ่าวปะตก เกาะราชา จังหวัดภูเก็ต ร่วมกันวางเส้นทรานเซ็คถาวร (permanent line transect) จำนวน 7 เส้น พร้อมทั้งได้ศึกษาชนิด ขนาด และความชุกชุมของปลาในแนวปะการัง อีกทั้งยังได้ถ่ายภาพปะการัง และร่วมกันวิเคราะห์ปริมาณปะการังปกคลุมด้วยโปรแกรม CPCe ด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณะเดช บอกต่อว่า สภาพปะการังไทยในปัจจุบันน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากปะการังเกิดการฟอกขาวอย่างรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ทำให้ปะการังเขากวางที่อ่าวขอนแค เกาะราชา ตายเกือบร้อยเปอร์เซนต์ สาเหตุน่าจะมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงเกิน 32 องศาเซลเซียล ทั้งนี้อยากให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญของปลาในแนวปะการัง ร่วมกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศปะการัง นอกจากนี้การจับปลาในแนวปะการังโดยเฉพาะกลุ่มปลากินพืช เช่นปลานกแก้ว จะทำให้ไม่มีปลาที่คอยกินต้นอ่อนของสาหร่ายที่ขึ้นบนกอปะการัง อีกทั้งปะการังจะได้รับแสงอาทิตย์น้อยลงและถูกสาหร่ายขึ้นปกคลุม ในที่สุดปะการังก็จะตายไป

“ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาดำน้ำที่เกาะราชาเยอะมาก นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ดีเพียงพอ และขาดทักษะการดำน้ำที่ถูกต้อง หลายครั้งที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เหยียบปะการังทำให้กิ่งปะการังหัก บางคนนำอาหารมาเลี้ยงปลาในแนวปะการัง ทำให้ปลาที่ควรจะกินสาหร่ายก็ไม่ไปกินสาหร่าย แต่กลับมารอขนมปังที่นักท่องเที่ยวนำมาเลี้ยงมันแทน ส่งผลกระทบต่อสมดุลธรรมชาติของระบบนิเวศปะการัง และจะมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลอย่างแน่นอน” รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณะเดช กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดยศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ