Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ บรรยายพิเศษให้แก่นักศึกษาใหม่ มวล.

22/05/2556

3950

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน แนะนักศึกษาใหม่ ม.วลัยลักษณ์(มวล.) ต้องมีความเป็นเลิศ ในสาขาที่ตัวเองเรียน เร่งฝึกภาษาอังกฤษ ฝึกเป็นคนมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์สุจริต และสามารถทำงานแบบ Multi-functional เพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงานอาเซียน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี ม.วลัยลักษณ์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ให้เกียรติบรรยายพิเศษ เรื่อง "การเตรียมความพร้อมตลาดแรงงานสู่อาเซียน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาทักษะการเรียนระดับอุดมศึกษาสำหรับนักศึกษา ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2556 ให้แก่นักศึกษาใหม่ประดู่ช่อที่ 16 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อมรา ช้างทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับ

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อมีการรวมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะมีการเปิดประเทศมากขึ้น การลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศจะมีมากขึ้น จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานซึ่งกันและกัน ชีวิตจะไม่จำกัดเหมือนในอดีต ทุกคนมีโอกาสที่จะไปทำงานในแถบอาเซียน การผลิตแรงงานในอนาคตทุกสาขาจะต้องผลิตเพื่อรองรับตลาดของคนถึง 600 ล้านคน โดย 8 สาขาอาชีพ ที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานซึ่งกันและกันเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ท่องเที่ยว และการสำรวจประเมินราคาทรัพย์สินและจะมีปริมาณของสาขาเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานหรือการจ้างงานจะไม่อยู่ในเมืองไทยเท่านั้น ข้อดีของคนไทยคือโอกาสในการไปทำงานในประเทศอื่นๆ สูงขึ้น แต่ข้อเสียที่ตามมาคือ อัตราการแข่งขันจะสูงขึ้น ตำแหน่งงานในเมืองไทยจะถูกแข่งขันจากเพื่อนบ้านอีก 9 ประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้นนักศึกษาต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม ต้องมีความเป็นเลิศในศาสตร์หรือสาขาที่ตัวเองเรียน หากเราเก่งจริง มีความสามารถจริง โอกาสก็จะเป็นของเรา ผู้ประกอบการก็จะเลือกเราเข้าทำงาน

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวต่อไปอีกว่า การเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน นักศึกษาสามารถเรียนรู้จากสื่อออนไลน์ได้ก่อนการเข้าห้องเรียน บรรยากาศในห้องเรียนจึงเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมากกว่าการเลคเชอร์ สิ่งสำคัญครูผู้สอน ต้องสอนให้นักศึกษารู้จักคิด รู้จักการวิเคราะห์ข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล บูรณาการข้อมูล เพื่อหาทางออกของปัญหาต่างๆบนข้อมูลเหล่านั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมตลาดแรงงานสู่อาเซียน ภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางของโลก นักศึกษาต้องให้ความสำคัญและหมั่นฝึกฝน อย่าเรียนภาษาอังกฤษเพียงแค่ให้ได้เกรดเอเท่านั้น ต้องสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองคิดกับผู้อื่นได้ ส่วนทักษะภาษาของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะภาษามลายูซึ่งคนในแถบอาเซียนกว่า 300 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่งของอาเซียนใช้กัน หากมีความสามารถสื่อสารภาษาดังกล่าวได้ก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่นอย่างแน่นอน

นอกจากทักษะในเรื่องภาษาแล้ว สิ่งที่คนหนุ่มสาวยุคโลกาภิวัตน์ต้องมีคือต้องสามารถทำงานแบบ Multi-functional ต้องปรับทัศนคติใหม่ว่าแผ่นดินอาเซียนคือพื้นที่ที่เปิดโอกาสกว้างขึ้น พร้อมจะเดินทางไปเผชิญสิ่งใหม่ของชีวิต ฝึกตนให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัย ตรงไปตรงมา โปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต แข่งขันอยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่ทุกคนรู้และทุกคนปฏิบัติได้ นอกจากนี้ช่วงระหว่างเรียนอยากให้นักศึกษาตระหนักถึงการช่วยเหลือตัวเอง หากมีเวลาควรหารายได้เพื่อช่วยเหลือตัวเองโดยไม่กระทบกับการเรียน และควรใช้จ่ายอย่างประหยัดด้วย

“ระฆังแห่งอาเซียนดังขึ้นเพื่อปลุกพวกเราให้ตื่น ตั้งแต่วันนี้ต้องหันมาฝึกภาษาอังกฤษให้เก่ง เตรียมตัวเป็นคนแบบ Multi-functional พร้อมตั้งปณิธานให้ได้ว่า จะต้องมีความพร้อม มีความสามารถ มีความเป็นเลิศ อนาคตเราก็จะเป็นอะไรก็ได้ หวังว่านักศึกษาทุกคนจะเป็นบุคคลที่ตื่นพร้อมจะเรียนรู้ ซึมซับความรู้ ข้อมูล ปัญญา ความคิด รับฟังและเก็บสิ่งที่ดีๆ ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย พร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศชาติ ในบรรยากาศความเปลี่ยนแปลงของอาเซียนซึ่งบรรยากาศของการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง หากทำได้แล้วทุกคนจะภูมิใจ” ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวย้ำกับนักศึกษาใหม่ ม.วลัยลักษณ์

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์