Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดประชุมเพื่อร่างปฏิญญาเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย

28/06/2556

1991


มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและสื่อสารองค์กร ในฐานะประธานคณะกรรมการเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้บริหารเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ในวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2556 ณ หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันจัดทำปฏิญญาเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย โดยในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยสมาชิกเครือข่ายจำนวน 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นการรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยสมาชิก จำนวน 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ทุกๆ 3 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อส่งเสริม สนับสนุนในการใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอุดมศึกษา ทั้งนี้ การร่วมกันร่างปฏิญญาเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของสมาชิกเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการความรู้ภายใต้มาตรฐานที่กำหนด อีกทั้งเพื่อต้องการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายที่จะเป็นต้นแบบในการจัดการความรู้ภายในมหาวิทยาลัยที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพการดำเนินงานของแต่ละมหาวิทยาลัย

ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดเสวนาเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 23 (1/2556) ภายใต้หัวข้อ “จากเครื่องมือพื้นฐานสู่ปัญญาปฏิบัติ” ระหว่างวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการเสวนาฯ ครั้งนี้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการนำเครื่องมือ KM ไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานจริง โดยในเวทีดังกล่าว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้กรอบแนวคิด และประสบการณ์การใช้เครื่องมือ After Action Review (AAR) และ Community of Practice (CoP) กับการประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริง ซึ่งหน่วยพัฒนาองค์กรจะเร่งดำเนินการประสานกลุ่มบุคคล หน่วยงาน เพื่อเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีดังกล่าว ต่อไป