Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง นโยบายและนวัตกรรมพลังงานทดแทน “จุดประกายความคิด พิชิตโจทย์ด้านพลังงาน”

25/07/2556

2151

สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง นโยบายและนวัตกรรมพลังงานทดแทน “จุดประกายความคิด พิชิตโจทย์ด้านพลังงาน” เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารปฎิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม โดยมี ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวรายงาน โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายสิทธิโชค วันทวิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน บรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายพลังงานทางเลือกและการอนุรักษ์พลังงาน

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความยินดีที่ได้จัดสัมมนาวิชาการภายใต้หัวข้อเรื่อง นโยบายและนวัตกรรมพลังงานทดแทน “จุดประกายความคิด พิชิตโจทย์ด้านพลังงาน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวลัยลักษณ์เกษตรแฟร์ 2556 ซึ่งกิจกรรมการสัมมนาในครั้งนี้ได้สอดคล้องกับประกาศมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2556 เรื่องนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน ตามแนวทางการดำเนินการข้อที่ 5 คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะให้การสนับสนุนที่จำเป็น รวมถึงทรัพยากรด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ เวลาในการทำงาน การฝึกอบรม และการมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อคิดเห็น เพื่อพัฒนางานด้านการอนุรักษ์พลังงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า สืบเนื่องจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงาน “วลัยลักษณ์เกษตรแฟร์ 2556” ขึ้น ระหว่างวันที่ 20 – 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ภายใต้แนวคิด “เกษตรรักษ์โลก” เพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อเทคโนโลยีการเกษตรอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล จะส่งผลให้เกษตรกรผู้ผลิตมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้บริโภคมีความปลอดภัย และเกิดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ในการนี้ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อเรื่อง นโยบายและนวัตกรรมพลังงานทดแทน “จุดประกายความคิด พิชิตโจทย์ด้านพลังงาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับนโยบายพลังงานทางเลือกและการอนุรักษ์พลังงาน เสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจพลังงานชีวภาพ ร่วมทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัยอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมพลังทดแทน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยังยืน
การสัมมนาครั้งนี้แบบเป็น 2 ช่วง คือช่วงเช้า เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายพลังงานทางเลือกและการอนุรักษ์พลังงาน" โดยนายสิทธิโชค วันทวิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และเสวนาเรื่อง “ธุรกิจพลังงานชีวภาพ : ปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดย นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรรมการผู้จัดการบริษัททักษิณปาล์ม (2551) จำกัด รองศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายวิเชียร สุขสร้อย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สนช.) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ อาจารย์ประจำ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินรายการ

ส่วนช่วงบ่ายไ้ด้มีการนำเสนอเรื่อง “การผลิตไฮโดรเจนโดยแบคทีเรียสังเคราะห์แสงแบบกะและกะซ้ำ” โดย นางสาววลัยลักษณ์ พัฒนมณี นักศึกษาปริญญาเอก สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง “การเจริญแบบเฮเทอโรทรอฟิกต่อผลผลิตไขมันของสาหร่ายคลอเรลล่า” โดย นางสาวสมฤทัย สิงหสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง “การเก็บเกี่ยวพลังงานด้วยวัสดุฉลาด” ผู้อำนวยการ Center of Excellence in Nanotechnology for Energy เรื่อง “เคมีของเซลแสงอาทิตย์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมผกา ฮาร์ดิง อาจารย์ประจำ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง “การใช้คลื่นไมโครเวฟให้ความร้อนในอุตสาหกรรม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเรื่อง “การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ในกระบวนการทางเคมี” โดย ดร.พันธุ์ศักดิ์ เกิดทองมี อาจารย์ผู้ช่วยสอน สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

การจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “นโยบายและนวัตกรรมพลังงานทดแทน” ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน บุคลากรทางการศึกษา อาจารย์ นักศึกษา และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมกว่า 80 คน