Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

3 นักวิชาการบรรยายพิเศษ การประชุมวิชาการ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 5

อัพเดท : 30/08/2556

2922

ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ชมรมผู้รับพระราชทานทุนอนันทมหิดล ดร.เลิศชาย ศิริชัย อาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นิพนธ์ ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2555 ได้บรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 5 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 1- 2 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ได้บรรยายเรื่อง “การวิจัยทางสังคมศาสตร์กับการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไทย” ว่า สังคมไทยต้องการงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ป้องกันและแก้ปัญหา เพื่อเผชิญการเปลี่ยนแปลง สร้างความรู้ใหม่และเปลี่ยนวิธีคิด/วิธีปฏิบัติเดิม เพื่อการพัฒนาและให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต แต่อาจารย์ทางสังคมศาสตร์ไม่ค่อยทำวิจัย เนื่องจากไม่มีเวลา มีภารกิจอย่างอื่นทำมากกว่า ไม่มีทุน ทำไม่เป็น ไม่เคยทำ กลัวทำไม่ได้ดี บรรยากาศไม่อำนวย ไม่ได้รับโอกาส ไม่รู้จะทำเรื่องอะไร ทำให้งานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์เกิดภาวะถดถอย

งานวิจัยทำได้ในหลายลักษณะ เช่น Basic Research เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ Development Research เพื่อการพัฒนา และ Evaluation Research เพื่อการประเมินผล ขณะเดียวกัน การออกแบบวิจัยต้องเหมาะสมกับโจทย์ เช่น Quantitive Research ต้องใช้หลักฐานเชิงปริมาณ เพื่อไปสู่บทสรุปทั่วไป Qualitative Research ใช้การสังเกตโดยตรง สอบถามผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์เอกสารและเน้นอธิบายบริบทหรือเหตุผล Experiment Research เพื่อเข้าใจสถานการณ์เฉพาะเรื่องจากการพิสูจน์ทดลอง นอกจากนี้งานวิจัยสังคมมีหลายลักษณะ เช่น เชิงนโยบาย งานวิจัยเพื่อชุมชน/ท้องถิ่น งานพัฒนากระบวนการ/การผลิต/การบริการ การวิจัยเชิงสำรวจ วิจัยเอกสาร และวิจัยเฉพาะพื้นที่ เป็นต้น

ที่สำคัญนักวิชาการต้องสร้างนิสัยการวิจัย คือ ตั้งคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ คำตอบที่ได้จะเป็นประโยชน์ จะต้องออกแบบ วางแผน สนุกกับการหาคำตอบ หากรู้แล้วให้เผยแพร่ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา ได้บอกในตอนท้ายว่า ถ้าเป็นนักวิชาการ การวิจัยต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ให้สนุกกับการวิจัย ไม่ใช่จำเป็นต้องทำวิจัย

ดร.เลิศชาย ศิริชัย บรรยายเรื่อง “ข้อคิดใหม่ในการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์” โดยเล่าถึง ภาวะชะงักงันของการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ว่า ไม่สามารถอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างซับซ้อน แต่สร้างการแบ่งฝ่าย ทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้น การมองปัญหาแบบคู่ตรงข้าม กับดักความคิดแบบคู่ตรงข้าม เช่น เอาประชาธิปไตยต้องล้มอำมาตย์ ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น สังคมต้องมองเรื่องความหลากหลายทางความคิด แต่ปัจจุบันเป็นการแบ่งขั้วที่ชัดเจนมาก สังคมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความรู้เปลี่ยนแปลงเร็ว ความสนใจทางสังคมหมุนเลยปัญหาพื้นฐานของสังคมที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว รวมทั้งปัญหาเดิมแต่เปลี่ยนแปลงความหมายใหม่ ปัญหาพื้นฐานที่เปลี่ยนความหมายใหม่กำลังขยายตัว เช่น ยาเสพติด การพนัน(หวยหุ้น) ปัญหาวัยรุ่น(การอยู่ร่วมกันเป็นคู่) ปัญหาการศึกษา(การสอนแบบเดิม) ปัญหาวิกฤตเชิงคุณค่า(ความสัมพันธ์ของพ่อ แม่และลูก) นอกจากนี้ งานวิชาการทางสังคมศาสตร์ไม่สามารถสร้างนักวิจัยที่มีความสามารถ เกิดความอ่อนแอทางวิชาการการเปลี่ยนแปลงบริบททางการศึกษา เช่น จ่ายเงินค่าลงทะเบียนครบ ก็สามารถจบการศึกษาได้ อิทธิพลของสังคมบริโภคนิยม ที่สำคัญการทำวิจัยข้าสาขาไม่ประสบความสำเร็จ ทำงานเป็นทีมไม่ได้ นักวิจัยสาขาอื่นเข้ามาทำวิจัยทางสังคมโดยไม่ได้ฝึกฝนทางสังคมศาสตร์เพิ่มเติม

ดังนั้น ทางออกของการแก้ปัญหาที่ ดร. เลิศชาย นำเสนอ คือ ทำอย่างไรจะเลิกคิดแบบคู่ตรงข้าม นักวิจัยต้องคลุกคลีกับปรากฏการณ์จริงและต้องทบทวนความรู้ที่มีอยู่อย่างจริงจัง ให้คุณค่างานวิจัยที่มีผลกระทบต่อการอธิบายและการแก้ปัญหาสังคมมากขึ้นแทนที่จะพิจารณาเฉพาะผลงานตีพิมพ์ และต้องทบทวนเรื่องจัดการศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับสังคมใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นิพนธ์ ฉัตรทิพากร บรรยายเรื่อง “วิจัยจากศูนย์ (Zero)...สูตรสำเร็จบนความเรียบง่าย” โดยนำประสบการณ์ของตนเองมาบอกเล่าให้ฟัง ว่า หลังจากจบการศึกษาหลังปริญญาเอก (Postdoc) และทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกามาระยะหนึ่ง ได้กลับมาทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มงานวิจัยจากเครื่อง checker 1 เครื่อง แต่ด้วยความรักในงานวิจัย จึงได้พยายามและไม่ยอมแพ้ โดยยึดหลักที่ว่า “ให้เพียรกตัญญู” และ “นับ 1 ถึง 10”

หลักที่ว่า “ให้เพียรกตัญญู” แยกเป็นคำโดยเริ่มจาก “ให้” ให้ความรู้แก่นักศึกษา ต้องเสียสละความรู้และเวลา เนื่องจากลูกศิษย์จะเป็นกำลังสำคัญในระยะยาวสำหรับการทำวิจัย ให้เวลากับเพื่อนร่วมงานและคนใกล้ชิด ให้กำลังใจกับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อเป็นทีมงานของเราในอนาคต ให้เงิน บางครั้งในการทำวิจัยจำเป็นที่จะต้องใช้เงินส่วนตัวในการดำเนินการ เช่น การจ้างผู้ช่วยวิจัย “เพียร” จะต้องไม่ล้มเลิก (Never give up) จงทำให้ได้และแพ้ไม่เป็น อุปสรรคคือ น้ำอมฤติ ทำให้ชีวิต (วิจัย) ยืนยาว “กตัญญู” สำนึกและขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาสการทำวิจัยกับเรา ให้ความรู้กับเรา แม้แต่กับลูกศิษย์เพราะได้เรียนรู้ทักษะการถ่ายทอดความรู้ และจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในอนาคต ขอบคุณครอบครัว คณะและภาควิชา ที่ให้เวลาเราในการทำวิจัย สำนึกและตอบแทนหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย โดยการมีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ เนื่องจากงานวิจัยมีผลและศักยภาพในการพัฒนาด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น และขอบคุณคนที่ให้อภัยต่อเรา สุดท้ายต้องมีความกตัญญูต่อพี่เลี้ยง (mentor) เพราะเป็นคนที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการทำวิจัยโดยใช้เวลาสั้นลงครึ่งหนึ่งของเวลาที่ควรใช้ในการทำวิจัย

หลักการ “นับ 1 ถึง 10” เริ่มต้นจากการใช้คำที่เป็นตัวอักษรตั้งแต่ 1 ถึง 10 คำแรก คือ “I” หลีกเลี่ยงการใช้คำนี้ เพราะเป็นคำที่ทำให้ตัวเรามี ego สูง “We” ใช้คำนี้ให้มาก หมายถึงการมีเครือข่าย “Ego” บ่อนทำลายความสำเร็จในการวิจัย “Love” ให้นำมาใช้ เหมือนกับทางพุทธศาสนา คือ อิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) “Smile” เก็บไว้ให้อยู่กับตัวเสมอ ยิ้มให้ตัวเอง อุปสรรคคืองานวิจัย “Rumour” ข่าวลือ ถ้าเชื่อในสิ่งที่เล่าลือด้านงานวิจัย โดยไม่ศึกษาหาความรู้หรือลงมือทำจะทำให้เสียเวลาในการทำวิจัย ถ้ามีความรักในการทำวิจัย ขอให้ลงมือทำทันที “Success” เป็นสิ่งจำเป็นที่นักวิจัยต้องตระหนัก เพราะต้องมีเป้าหมายในการทำตั้งแต่เริ่มต้นทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว “Jealousy” ต้องห่างไกลจากความอิจฉาริษยา เพราะบ่อนทำลายความเจริญของนักวิจัย แต่ต้องมี appreciation แสดงความชื่นชม “Knowledge” สำคัญและจำเป็นอย่างมาก ไม่มีพรมแดนในเรื่องของความรู้ ยิ่งฟังมากเรียนรู้มากจะช่วยพัฒนางานวิจัยของเราให้ดีขึ้น และคำที่ 10 “Confidence” เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมาก ถ้าตั้งใจทำงานวิจัย ให้ทำไป โดยไม่ต้องสนใจคนอื่น ให้มีความมั่นใจในตัวเอง แม้ว่า ผลจากตัวเลขงานวิจัยไม่เป็นไปตามสมมติฐาน ก็ต้องมีความมั่นใจถ้ากระบวนการและระเบียบวิธีวิจัยถูกต้อง

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นิพนธ์ ฉัตรทิพากร กล่าวในตอนท้ายว่า นักวิจัยที่จะประสบความสำเร็จได้ต้อง “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” โดยยกคำของ ไมเคิล แอนเจิลโลที่ว่า “The greatest danger for most of us is not that our aim is too high and we miss it, but that it is too low and we reach it” และได้สรุปการบรรยายโดยอ้างคำของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า "True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"


สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์/ข่าว
ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา/ภาพ