Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

จัดอบรมเชิงปฎิบัติการ “หมู่บ้านปลาดุกครบวงจรท่าซัก”ภายใต้โครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี พ.ศ. 2556

อัพเดท : 23/08/2556

3880


“หมู่บ้านปลาดุกครบวงจรท่าซัก” ตำบลท่าซัก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการสนับสนุนให้เป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 - พ.ศ.2555 ผลงานที่โดดเด่นและการถ่ายทอดเทคโนโลยี คือ ศักยภาพด้านการเลี้ยงปลาดุกและการผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาดุก เช่น ปลาดุกร้าท่าซัก ที่ขึ้นชื่อที่ได้รับการยอมรับ อย่างแพร่หลาย ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และลดปริมาณการนำเข้าปลาดุกจากชุมชนอื่นและการซื้ออาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงปลาดุกลดลงได้

จากความสำเร็จดังกล่าว ในปี พ.ศ.2556 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปลาดุกครบวงจรท่าซัก) โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้ประโยชน์ให้เกิดอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและอาชีพอื่น ๆ ในชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จนสามารถเป็นต้นแบบสำหรับชุมชนอื่น ซึ่งมีหมู่บ้านลูกข่ายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สนใจ 3 พื้นที่ คือ

1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืดบ้านบางเข็มสามัคคี หมู่ที่ 7 ตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ด้านปศุสัตว์ ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
3. กลุ่มปศุสัตว์อินทรีย์ ตำบลบ้านเนิน อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยการนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พ้วน เพ่งเซ้ง (ด้านการเลี้ยงปลาดุกและปลานิล) ร่วมกับ อาจารย์ ดร.นพวรรณ ฉิ้มสังข์ (ด้านการผลิตอาหารสัตว์น้ำ) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัต เมืองแก้ว (ด้านการผลิตอาหารสัตว์บก) จนทำให้คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับทราบปัญหาและความต้องการของหมู่บ้านลูกข่ายเพื่อเป็นโจทย์ให้หาคำตอบหาแนวทางการแก้ไข นำผลงานวิจัยไปสู่การแก้ไข พัฒนา และถ่ายองค์ความรู้แก่ชุมชน สิ่งที่สำคัญหลังจากการได้รับการถ่ายเทคโนโลยีและบริการวิชาการ คือ ทำให้ชุมชนสามารถประกอบอาชีพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยสรุปจากการจัดเวทีเสวนาดังกล่าว ได้มีกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนขึ้น โดยจัดเป็นการอบรมเชิงปฎิบัติการ “หมู่บ้านปลาดุกครบวงจร” ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้แก่หมู่บ้านลูกข่าย ทั้ง 3 พื้นที่ ดังนี้ 1)เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืดบ้านบางเข็มสามัคคี หมู่ที่ 7 ตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้สนใจเข้าร่วม 43 คน 2)เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ด้านปศุสัตว์ ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้สนใจเข้าร่วม 41 คน และ 3)เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 กลุ่มปศุสัตว์อินทรีย์ ตำบลบ้านเนิน อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้สนใจเข้าร่วม 19 คน

ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ผู้เข้าอบรมทั้งสามพื้นที่ต่างได้รับความรู้ในการเลี้ยงปลาดุกและปลานิลจากผู้เชี่ยวชาญ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พ้วน เพ่งเซ้ง) ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคต่างๆในการเลี้ยงปลาดุกและปลานิล อีกทั้งยังเป็นการเปิดประเด็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีนายสมเกียรติ พรหมทอง และนายโชคชัย สิทธิยุโณ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกและปลานิลจากตำบลท่าซัก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากำลังประสบในปัจจุบัน นำมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ทำให้สามารถมองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรผู้เลี้ยงปลานิลและปลาดุก ในด้านการผลิตอาหารสัตว์ปีก ผู้เชี่ยวชาญ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัต เมืองแก้ว) ได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์ปีก และการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น นำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ปีก และอาหารปลานิลได้ นอกเหนือจากองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวแล้ว ผู้เข้าอบรมยังได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตอาหารปลา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ (อาจารย์ ดร.นพวรรณ ฉิ้มสังข์) ได้สาธิตวิธีการผลิตอาหารปลานิล โดยนำวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีราคาไม่สูงมาก นำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารปลานิล พร้อมทั้งคำนวนค่าโปรตีนที่ได้รับจากอาหารปลานิล และถ่ายทอดความรู้ในการหาค่าโปรตีนของอาหารปลานิลให้แก่ผู้เข้าอบรม ทำให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประกอบอาชีพได้ ก่อนเสร็จสิ้นการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ผู้เข้าอบรมได้ศึกษาดูงานในฟาร์มมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พ้วน เพ่งเซ้ง และคณะ ได้ให้ความรู้ประกอบการศึกษาดูงานด้วย

ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นการเน้นด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาใช้กับชุมชน โดยเฉพาะการหาแนวทางนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่าย และสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลได้อีกด้วย

ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ศูนย์บริการวิชาการ) โทร 0-7567-3540-41