Location

0 7567 3000

ข่าวการศึกษา

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์นำนักศึกษาเภสัชศาสตร์ศึกษาสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช

อัพเดท : 10/09/2556

4704

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความมุ่งมั่นในการผลิตเภสัชกรที่มีคุณภาพ เน้นทักษะเภสัชกรรมชุมชน ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบ Active learning และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของสมุนไพรในเขตภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดทั้งมีองค์ความรู้ และภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยต่าง ๆ มากมาย มีแพทย์พื้นบ้าน ที่ให้การรักษาผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิ ซึ่งปัจจุบันยังมีการรักษาโรคและดูแลสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เล็งเห็นความสำคัญ ประโยชน์ของสมุนไพร ภูมิปัญญา และบทบาทสำคัญของแพทย์พื้นบ้าน จึงจัดให้มีกิจกรรมการศึกษา เรียนรู้ เกี่ยวกับสมุนไพรไทย และภูมิปัญญาของไทยในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามกระบวนการ Active learning เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และอนุรักษ์องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย

โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556 รองศาสตราจารย์ ถนอมจิต สุภาวิตา อ.ดร.บุญส่ง หวังสินทวีกุล อ.ดร.อภิชาติ อธิไภริน อ.ดร. ทัศนี ชูเชื้อ อ.ดร. อรรถวดี แซ่หยุ่น อ.ปาจรีย์ ศักดิเศรษฐ์ และ อ.บุษบรรณ สุขกาญจน์ คณาจารย์สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำคณะนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 สายเภสัชศาสตร์ จำนวน 31 คน ศึกษาสมุนไพรและภูมิปัญญาไทยในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีการแบ่งกลุ่มการศึกษาเป็นจำนวน 3 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 (รองศาสตราจารย์ ถนอมจิต สุภาวิตา และ อ.ดร. ทัศนี ชูเชื้อ เป็นอาจารย์ประจำกลุ่ม) ศึกษาสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย ณ บ้านหมอโชติ พรหมเพรา อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

หมอโชติ พรหมเพรา เป็นหมอพื้นบ้าน ที่ชำนาญการในการรักษาโรคกระดูก และโรคทั่วไป มีการใช้สมุนไพรประกอบการรักษาโรคมากมาย ตลอดทั้งมีการปลูกสมุนไพรเพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรค และเพื่อการศึกษาด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยด้วย โดยจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย

กลุ่มที่ 2 (อ.ดร.บุญส่ง หวังสินทวีกุล และ อ.ดร. อภิชาต อธิไภริน เป็นอาจารย์ประจำกลุ่ม) ศึกษาสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย ณ บ้านหมอเนื่อง ชาญณรงค์ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช

หมอเนื่อง ชาญณรงค์ เป็นหมอพื้นบ้าน ที่ชำนาญด้านการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์สตรี โรคเกี่ยวกับระบบเลือด และโรคทั่วไป มีการรักษาโรคดังกล่าวด้วยยาสมุนไพรต่าง ๆ มีการปรุงยา และจ่ายยา เพื่อการรักษาโรค

กลุ่มที่ 3 (อ.ดร. อรรถวดี แซ่หยุ่น, อ.ปาจรีย์ ศักดิเศรษฐ์ และ อ.บุษบรรณ สุขกาญจน์ เป็นอาจารย์ประจำกลุ่ม) ศึกษาสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย ณ บ้านหมอสมศรี เนียรจิตต์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช

หมอสมศรี เนียรจิตต์ เป็นหมอพื้นบ้าน ที่ชำนาญการในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับเด็ก โดยเฉพาะโรคตาน ทรางในเด็ก โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบิดา และปัจจุบันได้ดำเนินการด้านการแพทย์แผนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรุงยา จ่ายยา รักษาโรคดังกล่าว

จากนั้นกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ได้เดินทางไปสมทบ ณ บ้านหมอโชติ พรหมเพรา เพื่อศึกษาสมุนไพร ณ ศูนย์เรียนรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ซึ่งทางหมอโชติ พรหมเพรา ได้บรรยายเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนไทย และนำเดินศึกษาสมุนไพรในศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว

จากนั้นคณาจารย์สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 สายเภสัชศาสตร์ จำนวน 31 คน ได้เดินทางไปยังเขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ที่ ตย.3 (เขารามโรม) เพื่อศึกษาธรรมชาติและสมุนไพรในธรรมชาติ โดยสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณเทอดไทย ขวัญทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้รับการอำนวยความสะดวกจากคุณอนันต์ หนูหีม หัวหน้าเขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ที่ ตย.3 (เขารามโรม) และคณะเป็นอย่างดีเยี่ยม เมื่อเดินทางไปถึงที่หมาย ได้ดำเนินการสรุปผลการสำรวจภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย และสมุนไพร

ในช่วงเช้าของวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556 คณาจารย์สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ได้ออกเดินทางสำรวจสมุนไพร ณ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ที่ ตย.3 (เขารามโรม) และเดินทางกลับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

ประมวลภาพ