Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

เวทีวิชาการ “เพศวิถีศึกษาเพื่อสุขภาวะเยาวชน” ภาคใต้

อัพเดท : 12/09/2556

2262

ศูนย์ประสานงานเพศวิถีศึกษาภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ องค์การพัฒนาเทคโนโลยีสาธารณสุข หรือ PATH ร่วมกับภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งก่อรูปเป็นคณะทำงานใน 12 จังหวัดภาคใต้ จัดเวทีวิชาการ “เพศวิถีศึกษาเพื่อสุขภาวะเยาวชน” ภาคใต้ ในหัวข้อ “เพศวิถีศึกษากับการเรียนรู้และทักษะสำหรับโลกศตวรรษที่ 21” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศศึกษา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2556 ณ โรงแรมแกรนด์ปาร์ค จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี อิสรไกรศีล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานเวทีวิชาการ “เพศวิถีศึกษาเพื่อสุขภาวะเยาวชน” ภาคใต้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ กล่าวรายงาน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดีมหาวิยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา บรรยายพิเศษ เรื่อง “การศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กทุกคน และการเตรียมทักษะชีวิตสำหรับเยาวชนในโลกศตวรรษที่ 21”

รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี อิสรไกรศีล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากร กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานว่า เวทีวิชาการ “เพศวิถีศึกษาเพื่อสุขภาวะเยาวชน” ภาคใต้ ถือเป็นเวทีที่ดี เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการมีเพศสัมพันธ์สำหรับเยาวชนในสถานศึกษานับว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV การถูกล่วงละเมิดทางเพศและการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากความหลากหลายของค่านิยม สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีการสื่อสารและการไหลบ่าของสื่อที่สมัยใหม่ ทำให้เยาวชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รอบด้าน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เอื้อให้เยาวชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็ว ในขณะที่สังคมยังขาดการให้การศึกษากับเยาวชนในเรื่องเพศวิถีศึกษาอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง เพื่อให้รู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี กล่าวอีกว่า เวทีวิชาการ “เพศวิถีศึกษาเพื่อสุขภาวะเยาวชน” ภาคใต้ ถือเป็นการเติมเต็มกระบวนการเรียนรู้ เรื่องเพศวิถีศึกษากับเยาวชนในสถานศึกษา พร้อมเสริมภูมิคุ้มกันในสถานศึกษาด้วยเนื้อหาความเข้าใจเรื่องเพศวิถีศึกษาอย่างรอบด้านด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ การเสริมสร้างคุณลักษณะในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ตัดสินใจเลือก และรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการมีข้อมูลรอบด้านแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง และมีโอกาสใกล้ชิดนักเรียน ผู้ปกครองจึงต้องตระหนักถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ และรู้เท่าทันการใช้ชีวิตและการมีเพศสัมพันธ์อย่างรู้คิด และเลือกใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เพศศึกษารอบด้านสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา มาจากการตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อฐานของการมีข้อมูลรอบด้าน มุ่งปรับทัศนคติและความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ การบริโภคสื่อต่างๆอย่างใคร่ครวญ การมีทักษะการปฏิเสธ การต่อรอง การรู้จักป้องกันตนเอง จนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันและเป็นทักษะชีวิตของเยาวชน ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานวิชาการ โดยเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้สถานศึกษา ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักคิดและแนวทางปฏิบัติเชิงรูปธรรมด้านการเรียนรู้เพศวิถีศึกษารอบด้านและการพัฒนาเยาวชนเชิงบวกในสถานศึกษา พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศศึกษา ด้วยกระบวนการพัฒนาเยาวชนเชิงบวกในสถานศึกษา โดยมีผู้บริหาร ครู ตัวแทนเยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 400 คน

ทั้งนี้ภายในงานเวทีวิชาการ “เพศวิถีศึกษาเพื่อสุขภาวะเยาวชน” ภาคใต้ ยังมีนิทรรศการการจัดการเรียนรู้รอบด้าน และกิจกรรมต่างๆมากมาย อาทิ การบรรยาย การอภิปราย การฝึกทักษะเกี่ยวกับการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ การวัดและประเมินผลลัพธ์ผู้เรียน และยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย