Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

แนะนำนักวิจัย มวล. : รศ. ดร.มนัส ชัยจันทร์ นักศึกษา มวล. รุ่นแรก : ผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีอาหารที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า 20 เรื่อง

11/09/2556

10965

รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เน้นการทำวิจัยทั้งประเภทงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และสามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนและภาคอุตสาหกรรม โดยผลงานได้รับการตีพิมพ์ระดับนานาชาติและระดับชาติ จำนวน 20 เรื่อง และนำเสนอในที่ประชุมวิชาการจำนวน 42 เรื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ เป็นชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถพิเศษทางวิชาการ (สพพ.) เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปีการศึกษา 2541 ซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย หลังจากสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 ในปี พศ. 2545 รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ได้รับทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาเทคโนโลยีอาหาร จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ไปทำวิจัย ณ University of Connecticut ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลงานวิทยานิพนธ์หัวเรื่อง Characterization of Muscle Proteins and Interaction between Myofibrillar Proteins and Myoglobin in Dark-Fleshed Fish Used for Surimi Production ได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติจำนวน 9 เรื่อง และได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2550 และรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประเภทรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับชมเชยประจำปี 2551

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2549 รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รับผิดชอบด้านการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ด้วยความตั้งใจและเอาใจใส่เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ โดยนำผลงานวิจัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายวิชาโครงงานเทคโนโลยีอาหาร ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานให้กับนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง และได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากโครงการโครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (IRPUS) ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ทำให้นักศึกษาสามารถได้ใช้ความรู้ทางวิชาการและการวิจัยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงให้กับผู้ประกอบการ ส่วนระดับบัณฑิตศึกษามีนักศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโทภายใต้การดูแลจำนวน 3 คน รวมทั้งได้จัดทำตำราเรียน “เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สัตว์ปีกและไข่ (Meat, Poultry and Egg Products Technology) เพื่อให้นักศึกษาทางด้านนี้ได้ศึกษาเรียนรู้อีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ เป็นนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถ ได้ทำวิจัยทั้งประเภทงานวิจัยพื้นฐานเพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และงานวิจัยประยุกต์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาให้กับชุมชนและภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่เคมีและเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ประมงและเนื้อสัตว์ คือ การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ การยืดอายุการเก็บรักษา และการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานวิจัย ทำให้ใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปี ในการขอตำแหน่งทางวิชาการระดับ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” และอีก 4 ปี ต่อมาได้รับตำแหน่งทางวิชาการระดับ “รองศาสตราจารย์”

รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจำนวน 18 โครงการ โดยในจำนวนนี้เป็นทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่จำนวน 1 ทุน และทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 16 จำนวน 1 ทุน รวมทั้งทุนวิจัย Visiting researcher เพื่อปฏิบัติการวิจัย ณ Chalmers University of Technology ประเทศสวีเดน เป็นเวลา 1 ปี โดยเน้นงานวิจัยเกี่ยวกับการกำจัดฮีโมโกลบินในเนื้อปลาระหว่างกระบวนการผลิตโปรตีนไอโซเลทด้วยกระบวนการปรับพีเอช มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับนานาชาติและระดับชาติ จำนวน 20 เรื่อง นำเสนอในที่ประชุมวิชาการจำนวน 42 เรื่อง และบทความวิชาการ จำนวน 2 เรื่อง

ผลงานวิจัยเรื่อง “Darkening prevention of Thai fermented shrimp paste by pre-soaking whole shrimp with pyrophosphate” ได้รับรางวัลชนะเลิศการนำเสนอแบบโปสเตอร์ และเรื่อง “Combination effect of sorbitol and polyphosphate on physicochemical characteristics of frozen grilled pork” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์เช่นเดียวกัน ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ Food Innovation Asia Conference 2010 รวมทั้งรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์เรื่อง “Purification and biochemical characteristics of trypsin from the viscera of hybrid catdish (Clarias macrocephalus x Clarias gariepinus)” ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Conference on Food and Applied Bioscience 2012 นอกจากนี้ ผลงานวิจัยเรื่อง การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ประมงและการใช้ประโยชน์สูงสุดของผลพลอยได้จากการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งรับผิดชอบวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพของซูริมิจากปลาเนื้อดำ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ และได้รับรางวัล ผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2554 ภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว.

นอกจากผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ในฐานะผู้เชี่ยวชาญของโครงการการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และวิสาหกิจชุมชน ดังนั้น โครงการวิจัยบางส่วนของรองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ จึงเกิดขึ้นมาจากปัญหาที่โรงงานกำลังประสบ ทำให้ผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาสูตรน้ำปลาแท้และน้ำปลาผสม” ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ หจก. โรงงานน้ำปลาปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยปัจจุบันโรงงานได้ผลิตน้ำปลาสูตรที่ผ่านการพัฒนาออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว และโครงการวิจัยนี้ยังได้รับการคัดเลือกจาก สวทช. เพื่อถ่ายทำรายการ ไอสไตน์กับผู้ใหญ่ลี ตอน “พัฒนาสูตร เพิ่มคุณค่า น้ำปลาไทย” และผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร” และเรื่อง “การปรับปรุงเจลลูกชิ้นหมูที่ผลิตจากเนื้อหมูที่ผ่านการแช่เยือกแข็ง” ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ช. โปรเซสซิ่งฟู้ด จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์และผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาคุณภาพและการยอมรับของผลิตภัณฑ์ปลากึ่งแห้งที่ผลิตด้วยเทคนิคไมโครเวฟ” ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนบ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้เป็นวิทยากรการบรรยายหัวข้อ “การผลิตปลากึ่งแห้งด้วยเทคนิคไมโครเวฟตามหลักสุขาภิบาลอาหาร” หลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง กรรมวิธีการผลิตปลากึ่งแห้งคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีไมโครเวฟ ภายใต้โครงการเครือข่ายและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน สกอ. ภาคใต้ตอนบน

ด้วยมีผลงานตีพิมพ์เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในสาขาเทคโนโลยีอาหาร รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ จึงได้รับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการวิพากษ์หลักสูตร ประเมินข้อเสนอโครงการวิจัย ประเมินรายงานการวิจัย ประเมินบทความทางวิชาการในงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ เป็นกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก รวมทั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจสอบต้นฉบับให้กับวารสารวิชาการนานาชาติจำนวน 15 ชื่อเรื่อง เช่น Journal of Food Science, Fish Physiology and Biochemistry, LWT-Food Science and Technology, Food Reviews International และ Journal of the Science of Food and Agriculture เป็นต้น ทั้งยังเป็นผู้ให้บริการงานนวัตกรรม (innovation service provider; ISP) ของโครงการคูปองนวัตกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการอบรมและบรรยายให้กับผู้ประกอบการระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตอาหารระดับ SME เตรียมเข้าสู่ระบบ HACCP

รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ นักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัย ในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและมีศักยภาพทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัยและบริการวิชาการ ทางด้านเทคโนโลยีอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของไทย


ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง