Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

การอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีด้านไม้ครั้งที่ 2

อัพเดท : 18/09/2556

2121

หน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้การดำเนินงานของหน่วย มวล.-วช.ศูนย์เทคโนโลยีไม้และไม้ประกอบ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีทางไม้ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีการป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้ยางพารา...ในโลกปัจจุบันและโลกแห่งอนาคต”" ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2556 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโรงแรมเมืองลิกอร์ นครศรีธรรมราช โดยพิธีเปิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ซึ่งมีเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้กว่า 50 ท่าน

รองศาสตราจารย์ ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา กล่าวชื่นชมต่อทีมนักวิจัยของหน่วยวิจัยไม้ฯ ที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยด้านไม้อย่างลึกซึ้ง และทรงคุณค่ามาโดยตลอด 9 ปี จนสามารถทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมด้านไม้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นภาคใต้ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องมีการสนับสนุนทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้สามารถพัฒนาความรู้ทางวิชาการของไม้ยางพาราให้อยู่ในแนวหน้าของประเทศไทยและเพื่อให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ โดยขณะนี้ผลงานของหน่วยวิจัยไม้ฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้จริงแล้วหลายผลงาน รวมถึงมีผลงานที่ได้รับการนำไปอ้างอิงในวงการวิชาการด้านไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วมากมาย ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นอย่างมาก

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการในปีนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคโนโลยีการป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้ยางพารา...ในโลกปัจจุบันและโลกแห่งอนาคต ซึ่งเป็นการสะสมองค์ความรู้ของทีมนักวิจัยของหน่วยวิจัยไม้ฯกว่า 8 ปี ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้บรรยายและปฏิบัติจริงตลอดการอบรม 3 วันจะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจไม้ยางพารามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของไม้ยางพาราและวิธีการป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้ยางพาราทั้งจากเชื้อรา แมลงและมอด เพื่อเปิดโอกาสให้ทางผู้ประกอบการได้ร่วมมือกับทีมนักวิจัยของหน่วยวิจัยไม้ฯ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อทำการต่อยอดองค์ความรู้ด้านนี้ให้ใช้ได้ดียิ่งขึ้นในโลกอนาคต