Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์จัดประชุม รับฟังความเห็นแผนวิจัยด้านการท่องเที่ยว

อัพเดท : 28/09/2556

2654


มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น แผนวิจัยการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เป็นประธานเปิดการประชุม

ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการม.วลัยลักษณ์ ในฐานะผู้อำนวยการแผนการวิจัยการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็น แผนงานวิจัย การพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ณ ห้องธารา โรงแรมมาริไทม์พาร์ค แอนด์ สปา จังหวัดกระบี่ โดยได้รับเกียรติจากนายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม คุณวิยะดา ศรีรางกูล นำเสนอนโยบายและแนวทางการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดกระบี่ โดยมีนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและนำเที่ยวในจังหวัดกระบี่ ตัวแทนกลุ่มชุมชนที่ดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน จำนวนรวมทั้งสิ้น 65 คน

ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ กล่าวว่า แผนงานวิจัยดังกล่าว ได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยที่มาเกิดขึ้นจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นและร่วมกันวิเคราะห์ปัญหากับ ผู้ที่มีส่วนได้เสียจากการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ เนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าอย่างมหาศาลให้กับประเทศไทย มีศักยภาพสูงทางด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งนี้จังหวัดกระบี่ได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับจังหวัดที่ชัดเจนโดยมุ่งไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพในระดับนานาชาติ
ในการดำเนินการตามแผนงานวิจัยนี้ประกอบไปด้วยโครงการวิจัยย่อย 2 โครงการ คือ โครงการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ และ โครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยแผนงานวิจัยครั้งนี้ต้องการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ โดยทำการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวและโครงสร้างตลาด และความต้องการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยในโครงการวิจัยที่ 2 เป็นการดำเนินการในพื้นที่หมู่เกาะลันตาซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ทางจังหวัดกระบี่ต้องการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เน้นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเดิมแล้วยังกระจายรายได้ กระตุ้นการมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อมธรรมชาติของเกาะ ที่กำลังประสบปัญหาทั้งทางด้านการจัดการการท่องเที่ยว และผลกระทบทางการท่องเที่ยวทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยกรณีศึกษานี้มุ่งที่จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่อไปด้วย

ทั้งนี้สิ่งที่สะท้อนจากเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็น พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้มีการยกระดับคุณภาพการบริการในท้องถิ่นโดยเฉพาะด้านการขนส่ง และเน้นการประกอบธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการพัฒนาคุณภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการโดยเฉพาะทักษะด้านภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้หน่วยงานทางด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังสะท้อนความกังวลในเรื่องของแผนการจัดการการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเติบโตของแหล่งท่องเที่ยว อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงปัญหาผลกระทบทางด้านวิถีชิวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นผลมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยว

ภาพและข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์