Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

แนะนำนักวิจัย มวล. : ผศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง "การทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนของชุมชน"

08/10/2556

6599

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างสมรรถนะชุมชนในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน โดยสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในชุมชนต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นผู้ที่มีผลงานในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม จนได้รับมอบใบประกาศเกียรติคุณในโครงการ "วิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ พ.ศ. 2556" คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย เป็นคนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เริ่มเรียนระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนประจำตำบลบ้านสะพานไม้แก่น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนจะนะวิทยา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวรนารีเฉลิม และจบการศึกษาปริญญาตรีด้านการพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชนนีสงขลา ซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า วิทยาลัยพยาบาลภาคใต้ ซึ่งเป็นวิทยาลัยพยาบาลแห่งเดียวของภาคใต้

เมื่อจบการศึกษาปี 2531 ปฏิบัติงานในฐานะพยาบาลวิชาชีพ ณ หอผู้ป่วยเด็ก แผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลสงขลา และศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาการพยาบาลบิดา มารดา และเด็ก ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในขณะทำงานได้พัฒนางานด้านคุณภาพการพยาบาล งานคุณภาพของโรงพยาบาล ทำหน้าที่ผู้ประสานงานการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล พัฒนางานวิจัยในคลินิก การสอนการพยาบาลในคลินิกแก่นักศึกษาพยาบาลและสอนบรรยายเกี่ยวกับการพยาบาลเด็ก รวมเวลาในการทำงานด้านพยาบาลวิชาชีพ 15 ปี และได้รับวุฒิบัตรพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลเด็กจากสภาพยาบาล ในปี 2546

จากประสบการณ์การทำงานตลอด 15 ปี ด้านวิชาชีพพยาบาล และความสนใจการวิจัยทางการพยาบาล ตลอดถึงการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาวิชาชีพทางการพยาบาล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย จึงขอรับการคัดเลือกเป็นอาจารย์ของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี 2546 และศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาวิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2549 เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาทำหน้าที่สอนทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยเฉพาะรายวิชาวิจัยทางการพยาบาล วิทยาการระบาด และการพยาบาลเด็ก ตลอดจนการทำงานวิจัยในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของพื้นที่ในภาคใต้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย เป็นแบบอย่างของความเป็นอาจารย์ด้านการวิจัย ที่มีความมานะพยายามและมุ่งมั่นในการแสวงหาทุนอุดหนุนการวิจัย การสร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการทุนวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ 1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำวิจัยเรื่อง รูปแบบการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกที่เน้นชุมชนเป็นฐานอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 2) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เรื่อง รูปแบบการสร้างสมรรถนะในการแก้ปัญหาไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน 3) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ภาคใต้ตอนบน เรื่อง การสร้างความสามารถของอาสาสมัครป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในโรงเรียน : กรณีศึกษาโรงเรียนประทีปศาสน์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยืน: กรณีตำบลกำแพงเซา จังหวัดนครศรีธรรมราช 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ท้องถิ่น และ 5) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง การกำจัดเงื่อนไขการเกิดยุงลายเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของชุมชนตลาดพฤหัส อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น ที่สำคัญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย ได้บูรณาการผลการวิจัยสู่การเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท การบริการวิชาการจากผลการวิจัยสู่ชุมชน และเป็นผู้นำและแบบอย่างในการวิจัยทางด้านสุขภาพ จนได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นด้านการวิจัย ในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบปีที่ 21 (29 มีนาคม 2556)

การดำเนินการวิจัยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย เน้นการต่อยอดแนวคิดของการสร้างสมรรถนะชุมชนในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งได้พัฒนาระหว่างการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาการระบาดของโรคไข้เลือดออก แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพที่เน้นการป้องกันโรค แนวคิดการสร้างสมรรถนะหรือความสามารถบุคคลและชุมชน การดำเนินงานที่เน้นชุมชนเป็นฐานในการมีส่วนในการแก้ปัญหา และใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน สามารถลดความรุนแรงของการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ ทำให้ผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ และการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานทั้ง Poster และ Oral presentation อีกด้วย

ที่สำคัญผลงานวิจัยที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสังคมได้ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ได้นำโปรแกรมรวบรวมและคำนวณดัชนีลูกน้ำ (http://dengue.wu.ac.th) ซึ่งได้จากการพัฒนารูปแบบการจัดการดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยืน: กรณีตำบลกำแพงเซา จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งยังได้บูรณาการผลการวิจัยสู่การเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท อีกด้วย

นอกจากผลงานวิจัยที่เป็นที่ประจักษ์แล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง ยังได้จัดทำหนังสือ “การแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก” และ “การแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก: กำแพงเซาโมเดล การสร้างสมรรถนะชุมชนสู่ตำบลควบคุมโรคแข้มแข็ง” จัดทำสื่อการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและแบบทดสอบ และจัดทำเอกสารคำสอน “การจัดการความรู้ การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและแนวปฏิบัติทางคลินิกตามหลักฐานเชิงประจักษ์” “วิทยาการระบาดกับการพยาบาล” และ “กระบวนการวิจัยทางการพยาบาล: แนวคิดและการประยุกต์ใช้” เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง ได้บอกว่า กลุ่มวิจัย “การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน” เป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจ เนื่องจากช่วยสร้างบรรยากาศการวิจัยในหน่วยงาน และสะท้อนผลสำเร็จจากการเรียนสาขาวิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาพของบุคลากรพยาบาล พร้อมบอกถึงเป้าหมายในอนาคตว่า “... จะเน้นการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาไข้เลือดออกเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน บูรณาการสู่การเรียนการสอน และการเผยแพร่ผลงานในระดับชาติและนานาชาติ ... ที่สำคัญ คือ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ให้โอกาสพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่”



ประวัติและผลงาน


สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง