Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ ทำลายสถิติกับผลงานวิจัย 155 เรื่องและทุนวิจัย 60 ล้านบาท ใน 1 ปี

17/10/2556

4372

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ ในปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านมา จำนวน 155 เรื่อง ซึ่งสูงสุดทำลายสถิติของทุกปีที่ผ่านมา โดยเป็นบทความวิจัยนานาชาติตามฐานข้อมูล ISI และ Scopus ถึง 80 เรื่อง ในจำนวนนี้ บทความของ รองศาสตราจารย์ ดร. เดวิด เจมส์ ฮาร์ดิง และคณะ ที่เผยแพร่ใน Chemical Communications เป็นบทความในวารสารที่มี impact factor สูงที่สุด เท่าที่มีการเผยแพร่โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ 6.378

รองศาสตราจารย์ ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายเน้นการวิจัยเป็นกลุ่มวิจัยและวิจัยแบบบูรณาการศาสตร์ เพื่อให้การวิจัยมีทิศทางที่ชัดเจนตามนโยบายการวิจัยของมหาวิทยาลัยและของประเทศ โดยยุทธศาสตร์งานวิจัย จะนำจุดแข็งด้านงานวิจัย ความเชี่ยวชาญและความหลากหลายขององค์ความรู้จากสำนักวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ตอนบนเป็นหลัก สร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อเป็นผู้นำด้านการวิจัยในระดับสากล ส่งเสริมการวิจัยเป็นกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมโยงการบริหารงานวิจัยและการบริการวิชาการเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการวิจัยพื้นฐานที่สร้างองค์ความรู้ใหม่กับการวิจัยที่สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และพัฒนาสังคม โดยในปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เป็นผลงานวิจัยของคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ รวมทั้งหมด 155 เรื่อง จากทุกสำนักวิชา จำนวน 11 สำนักวิชา ที่เปิดการเรียนการสอนอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2541

ในปีที่ผ่านมา ยังเป็นปีที่อาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก รวม 60 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมาเช่นกัน นอกจากทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกแล้ว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังสนับสนุนงบประมาณงบแผ่นดินและทุนวิจัยภายในมหาวิทยาลัยในรูปแบบของทุนพัฒนาข้อเสนอโครงการ-ส่งเสริมนักวิจัยใหม่-เพิ่มขีดความสามารถนักวิจัย ทุนสนับสนุนกลุ่มวิจัย-หน่วยวิจัย-หน่วยวิจัยความเป็นเลิศ ทุนโครงการปริญญาตรี-เชื่อมโยงบัณฑิตศึกษา-นักวิจัยหลังปริญญาเอก อีกด้วย รวมทั้งส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิจัยในรูปแบบวารสารและการประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า บทความวิจัยนานาชาติตามฐานข้อมูล ISI และ Scopus ในปีงบประมาณ 2556 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 80 เรื่อง เป็นครั้งแรก โดยเมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยเทียบกับจำนวนอาจารย์ของมหาวิทยาลัย จะเข้าสู่ระดับ 0.2 บทความ/อาจารย์/ปี ซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถจัดเข้าอันดับ World Ranking of University ได้ และเป็นปีแรกที่มีบทความในฐานข้อมูล ISI จากทุกสำนักวิชาที่มีหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำหรับสำนักวิชาที่มีจำนวนบทความวิจัยนานาชาติสูงสุด คือ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการเกษตร มีจำนวนบทความ ISI ในระดับ 0.9 และ 0.6 บทความ/อาจารย์/ปี ตามลำดับ

จากคณาจารย์ 18 ท่าน ที่มีบทความในฐานข้อมูล ISI เป็นครั้งแรกในปีนี้ มีอาจารย์ใหม่ 3 ท่าน จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ซึ่งทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เพียงปีเดียวสามารถสร้างผลงานวิจัยจำนวน 2 เรื่องในวารสารตามฐานข้อมูล ISI ได้ นับเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัย ในภาพรวมผลงานวิจัยมีคุณภาพสูงขึ้นด้วย โดย 18 เรื่อง ได้รับการเผยแพร่ในวารสารที่มี impact factor สูงกว่า 2.00 และบทความของ รองศาสตราจารย์.ดร. เดวิด เจมส์ ฮาร์ดิง อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และคณะ ที่เผยแพร่ใน Chemical Communications ที่มี impact factor 6.378 เป็นค่าสูงสุดเท่าที่มีการเผยแพร่โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพของบทความจะส่งผลดี ในการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยสาขาต่างๆในสถาบันอุดมศึกษา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ต่อไป

“การวิจัยเป็นหนึ่งในสี่ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งนอกจากการวิจัยเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในวารสารและการประชุมวิชาการแล้ว ยังมุ่งเน้นการวิจัยเชิงพื้นที่และรับใช้สังคม เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น และประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นหลักในถิ่นของภูมิภาคและเป็นอุทยานการศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาประเทศสู่สังคมอุดมปัญญา” รองศาสตราจารย์ ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม กล่าวในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง