Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ผลิตบัณฑิต 13 รุ่น สนองความต้องการของสังคม

อัพเดท : 02/01/2557

3400

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี จำนวน 13 รุ่น จำนวนรวม 10,096 คน แบ่งเป็น บัณฑิตกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร้อยละ 23.79 กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร้อยละ 23.64 และกลุ่มสังคม/มนุษยศาสตร์ ร้อยละ 52.57 หากคิดเป็นอัตราส่วนบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์จะใกล้เคียงกับทางด้านสังคม โดยผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2555 (หลังจากจบการศึกษาภายใน 4 เดือน) บัณฑิตมีงานทำและบัณฑิตที่ศึกษาต่อ มีสูงถึงร้อยละ 80.8

ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เริ่มเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 และนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ในปี 2543 ปัจจุบันมีนักศึกษารวมทั้งสิ้นจำนวน 6,595 คน ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี จำนวน 6,305 คน แบ่งเป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดเป็นร้อยละ 27.36 กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 29.34 และกลุ่มสังคม/มนุษยศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 43.30 โดยมีสัดส่วนของนักศึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์สูงกว่ากลุ่มสังคม/มนุษยศาสตร์ นักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 186 คนและปริญญาเอก จำนวน 104 คน มีบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วจำนวน 13 รุ่น รวม 10,096 คน จบการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 1,029 คน และระดับปริญญาเอก จำนวน 36 คน

รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและทรัพย์สิน เปิดเผยถึงผลการสำรวจภาวะการมีงานทำของบัณฑิตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีล่าสุด (ปีการศึกษา 2555 หลังจากจบการศึกษา 4 เดือน) พบว่า บัณฑิตที่มีงานทำและผู้ที่ศึกษาต่อ สูงถึงร้อยละ 80.8 โดยหลักสูตรที่บัณฑิตมีงานทำมากกว่าร้อยละ 80 คือ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ (ร้อยละ 100) บริหารธุรกิจ (ร้อยละ 96.6) เภสัชศาสตร์ (ร้อยละ 92.2) เทคนิคการแพทย์ (ร้อยละ 88.5) นิเทศศาสตร์ (ร้อยละ 82.56) และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ร้อยละ 81.1)

หากดูข้อมูลย้อนหลังของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2550-2554 ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่า ในปีการศึกษา 2554 ภาวะการมีงานทำและผู้ที่ศึกษาต่อของบัณฑิตหลังจากจบการศึกษาเป็นเวลา 1 ปี สูงสุดถึงร้อยละ 89.2 ซึ่งจากข้อมูลรายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พบว่า บัณฑิตทั่วประเทศที่จบการศึกษาในปีเดียวกัน (2554) ภายใน 1 ปี มีงานทำและผู้ที่ศึกษาต่อเฉลี่ย เพียงร้อยละ 74.2 เท่านั้น

ส่วนภาวะการมีงานทำและผู้ที่ศึกษาต่อของบัณฑิต ในปีการศึกษา 2550-2553 คิดเป็นร้อยละ 81.7, 85.8, 84.2 และ 81.1 ตามลำดับ โดยบัณฑิตได้งานทำในภาคเอกชน เป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 56.4 ข้าราชการ/ภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 31.4 และเจ้าของกิจการ ร้อยละ 7.8 ทั้งนี้ บัณฑิตได้งานทำตรงสาขาวิชาที่ศึกษา สูงถึงร้อยละ 93.9 จากรายงานพบว่ามีผู้ได้งานทำทันทีหลังจากจบการศึกษา ร้อยละ 36.6 และได้งานภายใน 6 เดือน สูงถึงร้อยละ 94.4

ขณะเดียวกัน บัณฑิตที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่า การที่ตนเองได้งานทำและเร็ว เพราะมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ คิดเป็นร้อยละ 44.8 มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 25.8 ที่สำคัญได้นำความรู้จากที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ได้มากถึงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 69.4

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่สำเร็จการศึกษา ในปีการศึกษา 2553 (ทำการสำรวจหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว 1 ปี) จากระดับคะแนนเต็ม 5 ที่ได้คะแนนสูง ได้แก่ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ได้ 4.36 คะแนน ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ได้ 4.26 คะแนน ด้านความรู้ ได้ 4.15 คะแนน ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ 4.11 คะแนน และด้านทักษะทางปัญญา ได้ 4.09 คะแนน

“ผู้ใช้บัณฑิตยังชื่นชมบัณฑิตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์งานใหม่ สามารถปฏิบัติงานและพัฒนาการทำงานได้เป็นอย่างดี สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้ในการทำงาน และมีจิตอาสาช่วยเหลืองานผู้อื่นนอกเหนือจากภาระงานหลักของตนเอง” ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ กล่าวในตอนท้าย

อัตลักษณ์ของบัณฑิตวลัยลักษณ์ ที่ว่า “มีความรู้คู่การปฏิบัติ อุตสาหะสู้งาน เก่งด้านศิลปศาสตร์และเทคโนโลยี มีคุณธรรม” คงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีทั้งจากศักยภาพของตัวบัณฑิตและผู้ใช้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์