Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7

06/01/2557

2349

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) จัดประชุมวิชาการระดับชาติเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ ““ความกลัว ความหวัง จินตนาการ การเปลี่ยนแปลง”” เพื่อเปิดมุมมองทางมนุษยศาสตร์ ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2557

ผศ.ดร. ฐิรวุฒิ เสนาคำ อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มวล. ในฐานะหัวหน้าโครงการการประชุมวิชาการดังกล่าว เปิดเผยว่า สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มวล.ร่วมกับ ชุดโครงการเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เตรียมจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2557 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเปิดมุมมองทางมนุษยศาสตร์ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อตัวมนุษย์ อันก่อให้เกิดความกลัวและความหวัง รวมทั้งจินตนาการซึ่งเป็นสมรรถภาพที่สำคัญของมนุษย์ในการเรียนรู้ การสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา กระตุ้นให้เกิดจินตนาการใหม่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายนักวิจัยทางมนุษยศาสตร์ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ

โครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ “เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 7” ในหัวข้อ “ความกลัว ความหวัง จินตนาการ การเปลี่ยนแปลง” มีรูปแบบกิจกรรมทางวิชาการที่หลากหลาย ประกอบด้วยการแสดงปาฐกถา การบรรยายพิเศษจากวิทยากรในวงวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ ระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ ดร.มารค ตามไท ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร Chris Baker ศ.สุริชัย หวันแก้ว และ ศ.ชวน เพชรแก้ว นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอบทความวิจัย การเสวนากลุ่มย่อย ตลอดจนการจัดนิทรรศการแสดงงานศิลปะหัวข้อ “เสมือนมิใช่ตัวเอง” อันเป็นผลงานของนักศึกษาจากหลักสูตรจิตรกรรม สาขาศิลปะบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ด้านอาจารย์ ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มวล.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายวิชาการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มีนักวิชาการ นักวิจัยส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมเสนอในครั้งนี้จากทั่วประเทศ กว่า 50 ผลงาน และผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 30 ผลงาน ใน 8 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่ม 1 ความหวังและจินตนาการภูมิปัญญาตะวันออก กลุ่ม 2 รัก เปลี่ยน แปลกในแนวคิดตะวันตก กลุ่ม 3 เสียงเพรียกจากชุมชน กลุ่ม 4 จินตนาการทางการเมืองยุคหลังอุดมการณ์ กลุ่ม 5 สื่อ วรรณกรรมและจินตนาการข้ามพรมแดน กลุ่ม 6 การแปลและการแปรของงานสร้างสรรค์ในสังคมยุคเปลี่ยนผ่าน กลุ่ม 7 อดีต ปัจจุบันของภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน และกลุ่ม 8 ความกลัวและความย้อนแย้ง : ในวัฒนธรรมการเมือง

ทั้งนี้ คาดหวังว่ามนุษยศาสตร์จะตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมในยุคเปลี่ยนผ่าน และสามารถหาทางออกแก่สังคมโดยอาศัยพลังแห่งจินตนาการที่จะปรับความรู้ไปใช้อธิบายชีวิต สังคม โลก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ต่อไป

ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์