Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อ.ดร.อุดมรัตน์ วัฒนสิทธิ์ : สนองพระปณิธานฟ้าหญิงจุฬาภรณ์พัฒนาบุคลากรด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

05/02/2557

8664

อ.ดร.อุดมรัตน์ วัฒนสิทธิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มุ่งเน้นสนองพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม

อ.ดร.อุดมรัตน์ มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่วัยเด็ก โดยหลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนารีวิทยา จังหวัดราชบุรี ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาเคมี เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2545 ได้เข้าทำงานในบริษัทเอกชน ในตำแหน่งนักเคมีเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม พิษวิทยา และการบริหารจัดการสารเคมี (The Center of Excellence on Environmental Health, Toxicology and Management of Chemicals; ETM) ซึ่งเป็นศูนย์ระดับชาติ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบและการกำกับดูแลของ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ในหลักสูตรบัณฑิตศึกษานานาชาติ สาขาวิชา “พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม” ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology ; AIT) ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน คือ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ AIT

อ.ดร.อุดมรัตน์ เล่าว่า ในฐานะนักเคมีคนหนึ่ง สาขาวิชานี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าสารเคมีจะมีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่หากขาดการบริหารจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ ขณะศึกษาระดับปริญญาโทได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การประยุกต์ใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarkers) ในการประเมินการรับสัมผัสสารปิโตรเคมีในกลุ่มคนงานโรงงานพลาสติก” ซึ่งการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ได้จุดประกายความคิดที่จะศึกษาด้านนี้อย่างต่อเนื่อง จึงได้นำมาเป็นแนวคิดในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในหลักสูตรและสถาบันเดียวกันในเวลาต่อมา ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยด้านระบาดวิทยาในระดับโมเลกุล (Molecular Epidemiology) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้เซลล์เม็ดเลือดขาว (Lymphocytes) เป็นเซลล์ตัวแทน (Surrogate) ของเซลล์ปอด เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยงต่อการอักเสบและความเสียหายของระบบทางเดินหายใจในผู้ที่สัมผัสกับฝุ่นละอองในสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเกิดโรค เนื่องจากการอักเสบเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการเกิดโรคมะเร็ง โดยในการศึกษานี้ใช้ Biomarkers ต่างๆที่บ่งบอกถึงการอักเสบและความเสียหายของระบบทางเดินหายใจและสารพันธุกรรม (DNA) เป็นตัวประเมิน จากการทดลองระดับเซลล์ในห้องปฏิบัติการสู่การศึกษาในอาสาสมัครที่สัมผัสกับฝุ่นละอองในสิ่งแวดล้อม โดยมี รศ.ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฝ่ายวิจัย และ Prof. Herman Autrup ประธานสหภาพพิษวิทยานานาชาติ (International Union of Toxicology; IUTOX) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Molecular Epidemiology เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ในระหว่างการศึกษาอยู่นั้น อ.ดร.อุดมรัตน์ ได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้ต่างๆ ทางด้านนี้ โดยได้ทำงานในฐานะผู้ช่วยวิจัยในโครงการวิจัยต่างๆของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการรับสัมผัสสาร Volatile Organic Compounds (VOCs) ทั้งในสิ่งแวดล้อม (กลุ่มประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) และจากการประกอบอาชีพ (กลุ่มพนักงานสถาบันวิจัย ป.ต.ท.)

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว อ.ดร.อุดมรัตน์ ได้เริ่มทำงานในฐานะนักวิจัยอย่างเต็มตัวที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในโครงการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเด็กและโครงการศึกษาผลกระทบทางชีวภาพในระดับเซลล์ของเชื้อเพลิงชีวมวล (Biofuels) ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยทางด้านสารเคมีที่มีพิษซึ่งเป็นงานที่สนใจเป็นพิเศษ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นบุคคลต้นแบบซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในฐานะเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ด้วยสำนึกในความรู้ความสามารถและโอกาสในการศึกษาวิจัยที่ได้รับจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ อ.ดร.อุดมรัตน์ จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสนองพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมเพื่อออกมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในปี พ.ศ. 2556 จึงได้มาปฏิบัติงานในฐานะอาจารย์ หลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในงานด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและ Molecular Epidemiology ซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในประเทศไทยให้กับนักศึกษาและศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในด้านนี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับปรุงพัฒนางานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ด้วยเจตนาที่มุ่งมั่นของ อ.ดร.อุดมรัตน์ ทั้งในฐานะอาจารย์และนักวิจัย เราเชื่อว่า การให้ความรู้และการศึกษาทางด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ประเทศไทยมีบุคลากรและองค์ความรู้ทางด้านนี้เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

 

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง