Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์จัดพิธีรวบข้าวสืบสานประเพณีตามวิถีดั้งเดิมของชาวไทย ตามโครงการปลูกข้าวเพื่อการเรียนการสอน การวิจัยและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 10

อัพเดท : 07/03/2557

3659

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 มหาวิทยาวลัยลักษณ์จัดพิธีรวบข้าวเพื่อสืบสานประเพณีตามวิถีดั้งเดิมของชาวไทย ตามโครงการปลูกข้าวเพื่อการเรียนการสอน การวิจัยและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 10 บริเวณแปลงนาข้าว อุทยานไทยทักษิณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายศุภชัย สงประสพ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช นางสุวลี จุทิ่น เกษตรอำเภอท่าศาลา นายณรงค์ แก้วนพรัตน์ ปลัดอำเภอท่าศาลา ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความรักสามัคคีและอบอุ่น



ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร กล่าวว่า การดำเนินโครงการปลูกข้าวเพื่อการเรียน การสอน การวิจัยและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการดำเนินโครงการเศรษฐกิจที่พอเพียง อีกทั้งสนองพันธกิจและนโยบายของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการเรียน การสอน การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาพแก่บุคลากรและนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เริ่มปลูกข้าวมาตั้งแต่ปี 2551 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 แล้ว ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกประมาณ 60 ไร่เศษ พันธุ์ข้าวที่ปลูกประกอบด้วย สังข์หยด ข้าวชัยนาทและข้าวปทุมธานี โดยในการปลูกข้าวใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ปลอดจากสารพิษ ผลผลิตจึงอยู่ในเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจและได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพ

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ประธานคณะทำงานด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโครงการปลูกข้าวฯ บอกว่า ในการปลูกข้าว นักศึกษาและบุคลากรมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เช่น การหว่านข้าว การทำขวัญข้าว การเกี่ยวข้าว และพิธีรวบข้าว โดยพิธีต่างๆจัดทำตามประเพณีดั้งเดิมของชาวไทย เพื่อต้องการให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการทำนาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนา โดยก่อนการเก็บเกี่ยวปีนี้ ทางโครงการได้จัดให้มีพิธีรวบข้าวขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลในการทำนา




สำหรับกิจกรรมในพิธีรวบข้าวในครั้งนี้ยังมีการสาธิตการทำปี่ด้วยซังข้าว การสาธิตและการทำว่าวพื้นบ้าน นิทรรศการภาพถ่าย ทำนาผ่านเลนส์ และกิจกรรมการแข่งขันเก็บข้าวด้วยแกะ ซึ่งผลการแข่งขันเป็นดังนี้ ประเภททีม นักศึกษารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร รองชนะเลิศอันดับ 1 สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร รองชนะเลิศอันดับ 2 สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล 1,500 1,000 และ 500 บาท ตามลำดับ ส่วนประเภทบุคลากรและประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางเพ็ญทิพย์ สั่งสอน รองชนะเลิศอันดับ 1 นายอนันต์ สั่งสอน รองชนะเลิศอันดับ 2 นายสามารถ สุทธิรักษ์ ได้รับเงินรางวัล 1,000 700 และ 500 บาท ตามลำดับ


ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดยนายบรรพต ใบมิเด็น ส่วนประชาสัมพันธ์