Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

บุคลากร 5 ท่าน จากห้าหน่วยงาน เข้ารับโล่เชิดชูเกียรติฯด้านการวิจัย ในโอกาสครบรอบการสถาปนามหาวิทยาลัย

24/03/2557

2199

ตามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย หน่วยพัฒนาองค์กร ได้จัดให้มีการมอบโล่เชิดชูเกียรติสำหรับบุคลากรที่มีผลงานตามภารกิจด้านต่างๆ ในโอกาสครบรอบการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมนี้ สำหรับด้านการวิจัย มีบุคลากรห้าท่านเข้ารับโล่เชิดชูเกียรติในปีนี้ ดังรายนามต่อไปนี้

1. ผศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ สำนักวิชาศิลปศาสตร์
-มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติการในแนวการวิเคราะห์จากตัวกระทำทางการเมืองจากมุมมองของภาคพลเมืองในการอธิบายกลไก กระบวนการใช้อำนาจของพลเมืองในบริบทสังคมการเมืองแบบใหม่ ตลอดจนใช้ความรู้ทางวิชาการในการติดตามและสร้างองค์ความรู้ด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น จนเป็นหนึ่งในจำนวนนักวิชาการไม่มากในประเทศที่มีผลงานด้านนี้ การวิจัยโดยหยิบเอาปรากฏการณ์ทางสังคมในชุมชนท้องถิ่นที่น่าสนใจอธิบายผ่านแนวคิดทฤษฎีทางการเมือง อำนาจ
-เป็นนักวิจัยรุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัย ในชุดโครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ได้รับทุนจากแหล่งทุนหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นว่า สกว. สถาบันพระปกเกล้า สสส. และจังหวัดนครศรีธรรมราช
-พัฒนางานวิจัยเป็นผลงานทางวิชาการเผยแพร่ในรูปแบบของหนังสือ บทความวิชาการ บทความวิจัยทั้งในวารสารระดับชาติและนานาชาติ จำนวนมาก ได้รับรางวัลงานวิจัยรางวัลชมเชยในระดับชาติของ สภร. ปี 2543 และได้รับการคัดเลือกจากประชาคมนครศรีธรรมราชและคณะกรรมการระดับชาติที่มีองคมนตรี เป็นประธาน ให้เข้ารับรางวัล “คนดี แทนคุณแผ่นดิน” 2552 ของเครือเนชั่นและหนังสือพิมพ์คมชัดลึก จากงานวิจัย ยุทธศาสตร์ข้าวภาคใต้ ยุทธศาสตร์ชาวนาลุ่มน้ำปากพนัง

2. ผศ.ดร.ปกรณ์ ดิษฐกิจ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร
-มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ แบบจำลองคณิตศาสตร์ ระบบสนับสนุนการตัดสินใจและแบบจำลองการหาค่าเหมาะสม สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการทรัพยากรน้ำและการป้องกันอุทกภัยที่เน้นการมีส่วนร่วม ของชุมชน
- เป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกมากที่สุดในปี 2556 รับผิดชอบโครงการจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะและงานวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ในด้านการวางแผนและการจัดการทรัพยากรน้ำในจังหวัดนครศรีธรรมราช
-ทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดการน้ำในภาวะวิกฤตโดยการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำ และโครงการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์เพื่อคงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ

3. อ.บุณฑรี จันทร์กลับ สำนักวิชาการจัดการ
-มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการโลจิสติกส์เกษตรกรรม การศึกษาโซ่อุปทานของปาล์มน้ำมัน ข้าวและผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ
-เป็นอาจารย์รุ่นใหม่คนแรกของมหาวิทยาลัย ที่ได้รับทุนวิจัยเชิงพื้นที่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ต่อมาได้รับความไว้วางใจจาก สกว. ในการสังเคราะห์ข้อมูลการวิจัยของจังหวัดนครศรีธรรมราช
-มีความร่วมมือด้านวิจัยกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง และจากความสามารถด้านงานวิจัยจึงได้โอกาสเป็นคณะกรรมการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการและติดตามผลการบริหารงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง และศูนย์กระจายสินค้าเกษตร จังหวัดนครศรีธรรมราช

4. นาย ไพรวัลย์ เกิดทองมี ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
-มีความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมไมโครเวฟเพื่อการอบแห้ง มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ในรูปแบบสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ที่กลุ่มชุมชนและภาคธุรกิจนำไปใช้เป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณมากมาย จาก สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงาน ก.พ.ร. และ วุฒิสภา เป็นต้น
-เป็นบุคลากรสายปฏิบัติการรุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัย ที่ช่วยวางรากฐานงานวิจัยด้านไมโครเวฟ พลาสมา โอโซน และ แม่เหล็ก
- เป็นนักวิจัยที่ร่วมก่อตั้งหน่วยวิจัยฟิสิกส์ทดลอง ในปี 2545 และร่วมโครงการวิจัยที่รับทุนจากหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง จนหน่วยพัฒนาสถานะเป็นศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

5. รศ.ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์
-มีความเชี่ยวชาญทางด้าน ความปลอดภัยด้านจุลชีววิทยาของอาหารและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อสุขภาพ การนำแบคทีเรียที่มีประโยชน์เข้าสู่กระบวนการเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ชุมชน
-เป็นนักวิจัยที่ร่วมก่อตั้งหน่วยวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในปี 2547 และหน่วยวิจัยชีวเวชศาสตร์ในปี 2554
-มีผลงานวิจัยในรูปแบบสิทธิบัตร และบทความวิจัยเผยแพร่ในวารสารทั้งระดับชาติและนานาชาติ จำนวนมาก

จึงขอเรียนเชิญบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีกับนักวิจัยทั้งห้าท่าน ในงานครบรอบการสถาปนามหาวิทยาลัย วันที่ 28 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 08.30 ณ อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา

อนึ่ง ผู้ได้รับรางวัลนี้ในปีที่แล้วได้แก่ ผศ.ดร. จรวย สุวรรณบำรุง, ผศ.ดร. นคร กกแก้ว, รศ.ดร. วาริน อินทนา, ผศ. เรวัต สุขสิกาญจน์ และ ดร. อัจฉราวรรณ บุรีภักดี การคัดเลือกผู้รับโล่เชิดชูเกียรติปีนี้มีเกณฑ์และกระบวนการ ดังนี้
1. เป็นผู้มีผลงานวิจัยในฐานะบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่าสองปี เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ
2. ผลงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เชิงองค์ความรู้ หรือ เชิงพาณิชย์ หรือ เชิงสังคมชุมชนท้องถิ่น
3. มีศักยภาพพัฒนาผลงานสู่รางวัลระดับชาติด้านการวิจัยภายในห้าปี
4. ในปีหนึ่งจะมีการมอบ 4-8 รางวัล โดยผู้รับรางวัลในแต่ละปีไม่สังกัดหน่วยงานเดียวกัน
5. ผู้บริหารหน่วยงานด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย คือ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เสนอชื่อให้รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม วินิจฉัยคัดเลือกในขั้นสุดท้าย