Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มุมมองและแนวทางการไปสู่ Social Enterprise ของ 3 วิทยากร “วลัยลักษณ์วิจัยทางการจัดการ ครั้งที่ 3”

08/05/2557

3193

การประชุมวิชาการด้านการจัดการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัยทางการจัดการ ครั้งที่ 3” (WMS Management Research National Conference #3) ภายใต้แนวคิด Innovative and Social Enterprise เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้จัดสัมมนาพิเศษใน 3 หัวเรื่อง ประกอบด้วย ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บรรยายเรื่อง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับการเป็น Social Enterprise ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง เรื่อง Social Investment for Social Enterprise ดร.ปริญญา ทุมสท้าน ผู้ช่วยผู้จัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ จำกัด เรื่อง Innovative and Social Enterprise in Business



ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร ได้พูดถึง “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับการเป็น Social Enterprise” ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) จึงได้จัดตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส) ขึ้น โดยความหมายของกิจการเพื่อสังคม คือ ธุรกิจหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม/สิ่งแวดล้อม โดยมีรายได้หลักมาจากการค้าหรือการให้บริการ (มากกว่าการรับบริจาค) เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน และนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมที่ตั้งไว้ กิจการเพื่อสังคมเป็นการเชื่อมโยงจุดแข็งของสองภาคส่วน คือ การจัดการที่มีประสิทธิภาพของภาคธุรกิจเอกชนมาร่วมกับการมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของภาคสังคม เพื่อทำให้เกิดทางแก้ไขปัญหาที่มีนวัตกรรมและมีความยั่งยืน ทั้งนี้ คุณสมบัติสำคัญของกิจการเพื่อสังคม คือ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่กำไรสูงสุด มีรูปแบบการดำเนินการที่มีความยั่งยืนทางการเงิน เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลกำไรกลับคืนสู่สังคมและเป้าหมายที่กำหนดไว้ และดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นระบบและเปิดเผยต่อสาธารณะ

ในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังทำไม่ได้ 100% กำลังก้าวไปสู่เส้นทางการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การมีศักยภาพในกิจการเพื่อสังคม (Walailak University Development Path Towards Social Enterprise Potential) ปัจจุบันเป็น University Engagement ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ใช้คำว่า “พันธกิจสัมพันธ์” ตามภารกิจของมหาวิทยาลัยใน 4 ด้าน คือ ด้านการวิจัย การบริการวิชาการ การเรียนการสอน และศิลปวัฒนธรรม โดยการพัฒนางานวิจัยร่วมกับชุมชนเป็น Engagement Research ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น การพัฒนาชาใบทุเรียนน้ำ การพัฒนาชากระวาน ผลิตภัณฑ์นกนางแอ่นพร้อมดื่ม การทำลายตัวมอดและไข่มอดในวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์อัดเม็ด การพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบการผลิตอาหารกึ่งสุก และการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันระเหยประสิทธิภาพสูงจากพืชด้วยไมโครเวฟ เป็นต้น

อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สรุปในตอนท้ายว่า มหาวิทยาลัยถูกคาดหวังให้ทำงานเพื่อสังคม คำถามคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำสามารถตอบโจทย์ต่อสังคมได้หรือเปล่า ทั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนของ Social Engagement เพื่อก้าวไปสู่ Social Enterprise

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ ได้พูดถึง Social Investment for Social Enterprise เริ่มจากการนำเสนอภาพความยากจนและความร่ำรวยของประชากรโลกผ่านวีดิทัศน์เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพ โดยควรแบ่งปันความมั่งคั่งให้ดีกว่านี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจควรมาก่อนการจัดสรรความมั่งคั่งให้ทั่วถึง ในส่วนของสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหารอบด้านซึ่งมีผลกระทบต่อคนไทยทุกคนโดยเฉพาะคนยากจน พร้อมพูดถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคมไทย ซึ่งประกอบด้วย รัฐบาล (Public Sector) ภาคธุรกิจ (Private Sector) แต่ปัจจุบันมีภาพส่วนที่ 3 (The Third Sector) ซึ่งเป็นการรวม Public Sector และ Private Sector เข้าด้วยกัน เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม สาธารณะ และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง The Third Sector เป็นการทำงานแบบ Private Sector จึงเป็นคำตอบของการแก้ปัญหา ซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นในทุกประเทศ และทุกภาคส่วนได้ให้ความสนใจเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนนี้ สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมคือ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) คือธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคม ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาของสังคมและมีความยั่งยืน มีการใช้นวัตกรรมทางการตลาดและความสามารถทางธุรกิจเพื่อให้กิจการเพื่อสังคมอยู่รอดและยั่งยืน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินงาน ไม่ใช่รายได้จากการบริจาค ผลกำไรส่วนหนึ่งต้องนำไปใช้ในกิจการเพื่อสังคม

กิจการเพื่อสังคมเป็นการทำเพื่อคนยากจน/คนพิการ ด้านสุขภาพ พลังงาน อาหารและการเกษตร การศึกษา และสิ่งแวดล้อม โดยต้องมีวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านสังคมและธุรกิจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลกและในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ชุมชนกองขยะในประเทศฟิลิปปินส์ ได้แปลงกองขยะเป็นพรมและสินค้าต่างๆ ในชื่อ rag2riches การไปลงทุนให้ชุมชนของ Body shop ผลิต Chocolate Divine โดยให้สหกรณ์ชุมชนมีส่วนร่วม หรือ The Big Issue หนังสือพิมพ์ที่ขายตามถนนในลอนดอนและอีกหลายเมืองในอังกฤษ โดยคนไร้บ้านเท่านั้นที่มีสิทธิ์ขาย ในส่วนของประเทศไทย เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา “โรงเรียนนอกกะลา” ที่ริเริ่มโดยคุณมีชัย วีระไวทยะ หรือกาแฟดอยตุง โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จย่าฯของ"มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง" เป็นต้น

มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และอีกหลายแห่งได้มีการวางตำแหน่งของมหาวิทยาลัยเป็น University for Social Enterprise มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เองก็มีเป้าหมายไปสู่การเป็น Social Enterprise เช่นเดียวกัน

ทำอย่างไรให้งานวิจัยเป็นผลต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่กิจการเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ ได้ให้แนวคิดไว้ว่า ต้องเริ่มจากการสร้างแนวคิด Social Enterprise ให้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยน mind set ให้ตรงกัน ถ้าเป็นไปได้ต้องเปิดคณะ/สำนักวิชากิจการเพื่อสังคม (School of Social Enterprise) หรืออาจเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร/ภาควิชา สำนักวิชาการจัดการอาจมีภาควิชา Social Enterprise เกิดขึ้นก่อนก็ได้ มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับนักศึกษา ชาวบ้าน และสร้างกิจกรรม Social Enterprise ซึ่งเป็นการทำร่วมกันของนักศึกษาและชาวบ้าน เริ่มจากแรงบันดาลใจ การพูดคุยเพื่อค้นหาว่าเราจะไปแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างไร โดยการกำกับดูแลของอาจารย์ อาจจัดประกวด Social Enterprise ดีเด่นในสาขาต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้แข่งขันกันทำความดี เป็นต้น

Social Enterprise ต้องให้ผลกระทบที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม Impact Investing ควบคู่กับผลตอบแทนทางการเงิน ขณะเดียวกันต้องสร้างระบบนิเวศที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม Impact Ecosystem ทั้งนี้ ทั่วโลกได้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเจตนารมณ์ที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยลงทุนผ่านตลาดหุ้น กองทุนเพื่อสังคม พันธบัตรเพื่อสังคม งบประมาณ CSR อาจแบ่งมาให้ Social Enterprise การลงทุนโดยตรงในกิจกรรมเพื่อสังคม หรือประกาศจะซื้อสินค้าจากบริษัททำกิจการเพื่อสังคมที่มาเสนอขาย เป็นต้น

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า The Third Sector ต้องเติบโตในสังคมไทย เพื่อให้ยืนอยู่ได้และมีความยั่งยืนในด้านการเงิน โดยขอให้ทำงานด้วย หัว + ใจ คือ ความคิด = เป้าหมายเพื่อสังคม และสมอง = จิตใจที่เป็นสาธารณะ ซึ่งถ้าไม่ใช่เราทำแล้วจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่เดี๋ยวนี้จะเป็นเมื่อไร

ดร.ปริญญา ทุมสท้าน ได้พูดถึง Innovative and Social Enterprise in Business เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ว่า สิ่งท้าทายที่จะต้องเผชิญใน 40 ปีข้างหน้า ในปี 2050 ประชากรของโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9000 ล้านคน 98% ของอัตราเพิ่มอยู่ในประเทศเศรษฐกิจใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ประชากรที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มเป็น 2 เท่า โดยเส้นทางที่จะนำไปสู่ปี 2050 ประกอบด้วย การพัฒนาไปสู่การมีวิถีชีวิตและพฤติกรรมที่เป็น eco-efficiency solution เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนที่เพิ่มขึ้น การผนวกรวมต้นทุนสังคมเข้ากับต้นทุนการดำรงชีวิตเพื่อให้รับรู้ถึงผลกระทบ เช่น แก๊สเรือนกระจก ระบบนิเวศ น้ำ เป็นต้น เพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรเป็น 2 เท่า โดยที่ไม่เพิ่มพื้นที่การปลูกและน้ำที่ใช้ หยุดการทำลายป่าไม้ และเพิ่มผลผลิตจากการปลูกป่า ลดภาวะแก๊สเรือนกระจก 50% ภายในปี 2050 จากปีฐาน 2005 รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงการเดินทางที่เป็น Low Carbon และการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร 4-10 เท่า

ทั้งนี้ ดร.ปริญญา ทุมสท้าน ได้เล่าให้ฟังต่อว่า การเข้าสู่การเป็น Social Enterprise นั้น จะต้องคาดการณ์ได้ว่า สิ่งที่ลงทุนมีคุณค่าแค่ไหน เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนมาก จึงต้องมีนวัตกรรม มีมาตรการติดตามความก้าวหน้าหรือการวัดความสำเร็จ และคุณค่าที่เราได้และชุมชนก็ได้ ซึ่งในการทำ Social Enterprise นั้น จะต้องหาผู้ร่วมทุน และทำในลักษณะโครงการนำร่อง ที่สำคัญจะต้องแยกออกมาจากธุรกิจปกติ มีองค์กรที่สามารถตัดสินใจได้และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง เงินทุนที่ใช้ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ซึ่งโครงการจะประสบความสำเร็จจะต้องเป็นลักษณะ Co-Creation โดยมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นแหล่งงานวิจัย

ดร.ปริญญา ทุมสท้าน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ในมือของเรา โดยเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ


สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
บรรพต ใบมิเด็น และนุรุณ จำปากลาย ภาพ