Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผศ.ดร.นคร กกแก้ว : เน้นวิจัยด้านที่เชี่ยวชาญและประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานกับโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

อัพเดท : 09/06/2557

7130

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร กกแก้ว อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เน้นทำวิจัยด้านที่เชี่ยวชาญและประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานกับโจทย์วิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนด้านการสอนก็สมมติตนเองว่า เป็นนักศึกษา เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ต้องอธิบายให้นักศึกษาฟังอย่างไร เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจในเนื้อหาสาระสำคัญของวิชานั้นๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนยโสธรพิทยาคม จังหวัดยโสธร ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในระดับปริญญาโท เน้นบริหารการก่อสร้าง (Construction Engineering and Management) จากนั้น ได้บรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ

ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมโยธา ที่ Columbia University ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิจัยศึกษาด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Risk Analysis)

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอกและกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เริ่มต้นทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์ ดร. สมจินตนา คุ้มภัย อาจารย์สำนักวิชาการจัดการ โดยเป็นงานวิจัยที่ใช้ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจการก่อสร้าง ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร ได้ทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยถือว่า งานวิจัยเป็นหนึ่งในภาระหน้าที่ของอาจารย์ เพื่อนำความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้ศึกษามาทำประโยชน์ต่อสังคมและใช้เป็นข้อมูลประกอบการเรียนการสอนแก่นักศึกษา จนกระทั่งได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” เมื่อปี 2556

งานวิจัยที่ทำส่วนใหญ่เกิดจากความอยากรู้และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้ความรู้ที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการทำวิจัย ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร เล่าว่า ในการทำวิจัยนั้น หากความรู้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จะศึกษาเพิ่มเติมและหาผู้ร่วมวิจัยท่านอื่นทั้งในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อให้ผลงานวิจัยที่ทำประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทางวารสารต่างๆ และนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ เช่น Modelling Completion Risk Using Stochastic Critical Path-envelope Method : a BOT Highway Project Application วารสาร Construction Management and Economics, Alternative to Government Revenue Guarantees : The Dynamic Revenue Insurance Contracts เผยแพร่ทาง ASCE, Journal of Infrastructure Systems และ Completion Delay Risk Management : A Dynamic Risk Insurance Approach เผยแพร่ทาง KSCE Journal of Civil Engineering, Thailand’s New Public Private Partnership Law : A Cure to the Problem ในการประชุม PPP International Conference 2013 – Body of Knowledge ประเทศสหราชอาณาจักร และได้รับเชิญให้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ “Public Private Partnership: An International Handbook” โดยสำนักพิมพ์ Taylor & Francis ของประเทศอังกฤษ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร ยังได้เป็น Visiting Researcher ของ Instituto Superior Técnico ประเทศโปรตุเกส อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร ให้ความสำคัญด้านการสอนเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยสมมติตนเองว่า เป็นนักศึกษาเพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ต้องอธิบายให้นักศึกษาฟังอย่างไร เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหาสาระสำคัญของวิชานั้นๆ รวมทั้งให้โจทย์ง่ายๆ ในห้องเรียนเพื่อทดสอบความเข้าใจ และสร้างกำลังใจให้นักศึกษาว่าเรื่องที่เรียนอยู่ไม่ได้ยาก ถ้าหากเข้าใจในหลักการ

เนื่องจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การวิเคราะห์ความเสี่ยง โดยใช้ Monte Carlo simulation และ Stochastic processes และวิธีการเรียลออปชั่น จึงมีความสนใจงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงของการวางแผนและวิเคราะห์ความเสี่ยงของโครงการ และเป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (Public-private partnerships) โดยแบ่งงานวิจัยออกเป็น 2 แนวทาง คือ การวิจัยเชิงทฤษฎี และการวิจัยเชิงนโยบาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร กกแก้ว ได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตออกเป็น 3 ระยะ คือ เป้าหมายระยะสั้น เป็นงานด้านการสอนและงานวิจัยที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เป้าหมายระยะกลางอยากพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม ระดับบัณฑิตศึกษาให้มีคุณภาพและมีทุนสนับสนุนงานวิจัยของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเป้าหมายระยะยาวอยากเห็นงานวิจัยที่ทำเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น ถนน ระบบขนส่งแบบราง เป็นต้น ที่สำคัญอยากเห็นความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน เนื่องจากมีผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาประเทศในอนาคต


ประวัติและผลงาน


สมพร อิสรไกรศีล
ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง