Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ดร.นมนต์ หิรัญ : นำการวิจัยและการเรียนการสอนมาเชื่อมโยงเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน

อัพเดท : 04/07/2557

6810

ดร.นมนต์ หิรัญ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำการวิจัยและการเรียนการสอนมาเชื่อมโยงเพื่อเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งบางครั้งคำถามของนักศึกษาทำให้ได้เรียนรู้และได้แง่มุมใหม่จากการถามคำถาม จึงเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกันมากกว่าที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดพียงฝ่ายเดียว

ดร.นมนต์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรตินิยม อันดับ 1 และรางวัลนักศึกษาที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมในสาขาเภสัชกรรมปฏิบัติ จากนั้น ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกคณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษา เมื่อปี 2556 ได้รางวัลวิทยานิพนธ์ชมเชย ระดับปริญญาเอก กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาคุณลักษณะเจลของ Tamarind Seed Xyloglucan เมื่อมี Gallic Acid และ Eriochrome Black T

ขณะที่ศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่นั้น ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.วิมล ตันติไชยากุล ศึกษาเรื่องการผลิตพอลิแซคคาไรด์จากเมล็ดมะขาม โดยการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์การจัดเรียงตัวของโมเลกุลของพอลิแซคคาไรด์ดังกล่าว เพื่อใช้สำหรับระบบนำส่งยารักษาโรค ซึ่ง ดร.นมนต์ ได้เล่าถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า พอลิแซคคาไรด์จากเมล็ดมะขามประกอบด้วยโมเลกุลที่เป็นรูปทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4-0.9 นาโนเมตร เป็นสายโซ่ยาว แต่เมื่อมีการเติมสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็กลงไป โมเลกุลขนาดเล็กเหล่านี้ จะเป็นตัวเชื่อมโมเลกุล ทำให้สารเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวหนืด และเมื่อมีความเข้มข้นที่เหมาะสม โมเลกุลของพอลิแซคคาไรด์จะเรียงตัวเป็นแผ่นบางที่มีความหนาประมาณ 0.5 นาโนเมตร ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพเป็นเจล จากนั้นได้มีการต่อยอดผลการศึกษาดังกล่าว ด้วยการเจือสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาโรคอีกชนิดหนึ่งลงไปในพอลิแซคคาไรด์จากเมล็ดมะขาม ทำให้เกิดการเปลี่ยนจากของเหลวเป็นเจล ผันกลับไปมาได้โดยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความเข้มข้นของยา และความเข้มข้นของพอลิแซคคาไรด์ โดยแป้งเมล็ดมะขามจะต้องนำไปผ่านกระบวนการสกัดนำโปรตีนและไขมันออก จนได้พอลิแซคคาไรด์ที่ต้องการแล้วนำมาใช้ประโยชน์สำหรับระบบนำส่งยา สารชนิดนี้มาจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าของพืชในประเทศไทย พร้อมกับการพัฒนาระบบนำส่งยา เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆได้

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ดร.นมนต์ ได้สมัครเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี 2556 เนื่องจากเพิ่งเริ่มทำงานสอน จึงจัดลำดับความสำคัญของงานเตรียมการสอนเป็นอันดับต้น โดยพยายามผสานความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์เข้าด้วยกัน เพื่อให้นักศึกษามีพื้นฐานที่เหมาะสมและรู้แนวทางเบื้องต้นในการนำความรู้พื้นฐานไปประยุกต์ใช้ โดย ดร.นมนต์ ได้นำการวิจัยและการเรียนการสอนมาเชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน เนื่องจากประสบการณ์จากงานวิจัยจะช่วยให้สอนนักศึกษาได้หลากหลายแง่มุมมากขึ้น ทั้งด้านทฤษฎีพื้นฐานและการนำไปใช้ ขณะที่การถ่ายทอดความรู้ก็ช่วยให้ได้เรียนรู้และทบทวนความรู้ไปด้วยในตัว เนื่องจากนักศึกษาที่สอนโดยรวมจะมีคำถามและใฝ่เรียนรู้ ทำให้บางครั้งก็ได้แง่มุมใหม่ๆจากการถามคำถามของนักศึกษา จึงคิดว่าเหมือนเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกันมากกว่าที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดเพียงฝ่ายเดียว

ดร. นมนต์ ได้รับต้นแบบที่ดีจากอาจารย์ขณะที่ศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและเอก จึงได้เรียนรู้ทั้งองค์ความรู้พื้นฐานและกระบวนการวิจัย อีกทั้งได้มีโอกาสได้ร่วมงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชา จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ดีและทำให้มีทัศนคติที่ดีต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.วิมล ตันติไชยากุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ดังนั้น แนวคิดเบื้องต้นที่ได้รับการถ่ายทอด ก็คือ จุดเด่นของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเหมาะที่จะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตวัสดุสำหรับใช้ทางเภสัชกรรม จึงสนใจศึกษาและพัฒนาระบบที่มีพอลิเมอร์ชีวภาพหรือไบโอพอลิเมอร์ (biopolymer) เป็นส่วนประกอบ สำหรับการนำมาใช้พัฒนาวัสดุชีวภาพ (biomaterial) และระบบนำส่งยา (drug delivery system) รวมทั้งการประยุกต์ใช้ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชามาใช้ในการพัฒนาวัสดุดังกล่าวเพื่อประยุกต์ใช้ทางเภสัชกรรม โดยมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ เช่น SAXS and ATR-FTIR Studies on EBT-TSX Mixtures in Their Sol-GEL Phases ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Biological Macromolecules, Effect of Eriochrome Black T on the Gelatinization of Xyloglucan Investigated Using Rheological Measurement and Release Behavior of Eriochrome Bland T from Xyloglucan Gel Matrices ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Pharmaceutics และ Preparation and Characterization of GA-TSX Matrices นำเสนอในที่ประชุม 3rd Conference on Innovation in Drug Delivery ประเทศอิตาลี เป็นต้น

“ด้วยความที่มีต้นแบบที่ดี ทำให้มีความสนใจศึกษาและมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพอลิเมอร์ชีวภาพหรือไบโอพอลิเมอร์ (biopolymer) สำหรับการนำไปใช้ในการพัฒนาวัสดุชีวภาพ (biomaterial) และระบบนำส่งยา (drug delivery system) เพื่อต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาไปสู่งานวิจัยอื่นเพิ่มเติม” ดร.นมนต์ หิรัญ กล่าวในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง