Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร กกแก้ว บรรยายพิเศษหัวเรื่อง Green Road to Green Growth (ถนนสีเขียว สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน)

10/07/2557

2280

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร กกแก้ว สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมบรรยายพิเศษ หัวเรื่อง Green Road to Green Growth (ถนนสีเขียว สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) ในการประชุมวิชาการระดับชาติ วลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด Research for Green Living เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นคร กกแก้ว ได้เล่าให้ฟังถึง Green Road to Green Growth โดยเริ่มจากคำว่า “Green” เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว ของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเครื่องมือที่ใช้วัดมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การวิเคราะห์วงจรชีวิต คาร์บอนที่เป็นกลาง เป็นต้น ส่วนคำว่า “Growth” เป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยวัดจาก GDP ในอดีต ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากภาคขนส่งมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันกับค่า GDP แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมาพบว่า การเติบโตของ GDP มีอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากภาคขนส่ง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเกิดจากภาคการผลิตอื่นๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะเดียวกันก็อาจหมายถึงการใช้พลังงานของภาคขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ในการพัฒนาสังคมเมืองโดยทั่วไปมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและส่วนที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้น เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งในทางวิศวกรรมโยธาได้จำแนกโครงสร้างพื้นฐาน ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสีเทา เช่น ถนน และส่วนที่เป็นสีเขียว เช่น สวนสาธารณะ อ่างเก็บน้ำ สำหรับแนวทางในการพัฒนาประเทศของหลายประเทศที่ผ่านมาเป็นการให้ความสำคัญต่อพัฒนาทางเศรษฐกิจก่อนแล้วจึงแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทีหลัง (Grow first, clean up later) แต่ในปัจจุบันมีการพูดถึงแนวทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเรียกว่าเป็นการพัฒนาแบบ “Green growth”

สำหรับการประเมินสีเขียวมีทั้งที่เป็นแบบที่ถูกบังคับด้วยกฎหมายและแบบสมัครใจ ส่วนการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ก็เพื่อศึกษาถึงความคุ้มทุนของการลงทุนในโครงการ ซึ่งอาจใช้การวิเคราะห์กระแสเงินสดของโครงการ เป็นต้น ส่วนคำนิยามของถนนสีเขียว (Green Roads) หมายถึง ถนนที่มีการออกแบบ การก่อสร้าง และการดำเนินการ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในประเทศไทยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับผิดชอบในการรณรงค์ให้เกิดการขนส่งสีเขียว โดยการรณรงค์ให้ใช้จักรยาน หรือการเพิ่มการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางแทนการใช้ถนน เป็นต้น

ปัญหาของวิธีการประเมินสีเขียวของถนนในปัจจุบันพบว่ามีปัญหาหลายอย่างด้วยกัน เช่น การประเมินที่ทำเพียงครั้งเดียวก่อนการใช้งานจริง ซึ่งเมื่องานจริงปรากฏว่าโครงการมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งถือเป็น ความเสี่ยงในการดำเนินการ สำหรับการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการก็เช่นเดียวกัน คือ จะศึกษาก่อนการตัดสินใจลงทุน อีกทั้งการประเมินสีเขียวและการประเมินทางด้านเศรษฐศาสตร์จะทำแยกกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นคร จึงมีความสนใจที่จะพัฒนารูปแบบการประเมินที่รวมการประเมินทั้ง 2 วิธีเข้าด้วยกันในรูปแบบของดัชนีที่เข้าใจง่าย และสามารถใช้ประเมินโครงการเป็นระยะๆ เช่น ทุกๆ ปี เป็นต้น โดยเรียกดัชนีนี้ว่าเป็น “Green growth index” ซึ่งทำหน้าที่เสมือนบารอมิเตอร์สำหรับวัดค่าการเติบโตสีเขียวของโครงการ โดยการใช้ “Green growth index” ในการประเมินโครงการโครงสร้างพื้นฐาน มีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ 4 อย่างด้วยกันคือ (1) ทั้งเขียวและเติบโต (2) เขียวแต่ไม่เติบโต (3) เติบโตแต่ไม่เขียว และ (4) ไม่เติบโตและไม่เขียว ซึ่งในการพัฒนาเราคงอยากได้ผลลัพธ์ที่เป็นแบบที่ 1 คือ ทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รูปแบบการประเมิน “Green growth index” ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นคร ได้พัฒนาขึ้น เบื้องต้นได้นำไปใช้ประเมินโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) ซึ่งผลการศึกษาพบว่า โครงการมีค่าดัชนีการเติบโตสีเขียวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี (ประเมินแบบรายปี) แต่ขณะเดียวกันพบว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าดัชนีนั้นมาจากค่าทางเศรษฐศาสตร์ ส่วนดัชนีทางด้านสิ่งแวดล้อมมีค่าลดลง ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ณ ปัจจุบัน ทางหลวงพิเศษหมายเลย 9 เป็นแบบที่ 3 คือ เติบโตแต่ไม่เขียว อนึ่ง การประเมินทางหลวงโดยใช้ “Green growth index” สามารถช่วยกรมทางหลวงในการตัดสินใจบริหารโครงการว่า จะมุ่งให้โครงการไปในทางใดในอนาคต นั่นคือ จะเพิ่มค่าดัชนีการเติบโตสีเขียวของโครงการจากค่าทางเศรษฐศาสตร์หรือค่าทางสิ่งแวดล้อม หรือเพิ่มทั้งสองค่าไปพร้อมๆ กัน (การให้ความสำคัญกับค่าทางสิ่งแวดล้อมของคนในสังคมมักจะสัมพันธ์กับสภาวะทางเศรษฐกิจ เช่น หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีประชาชนมักจะเพิ่มความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยลง เนื่องจากมีความต้องการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานเพิ่มมากขึ้น)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นคร กกแก้ว ให้ความเห็นในตอนท้ายว่า หากเราต้องการพัฒนาบ้านเมือง การที่จะทำถนนสีเขียวทั้งหมดคงจะยาก และอาจจะไม่คุ้มค่า แต่สามารถออกแบบและดำเนินการให้ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในทางออกของปัญหานี้ คือ การรักษาพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าน่าจะดีกว่า และเน้นการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรของท้องถิ่นเป็นหลัก

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ ข่าว
นันทพร ขันธศุภหิรัญ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ภาพ