Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

24/07/2557

2949

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์   ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต เข้าร่วมสนองพระราชดำริ  โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  (อพ.สธ.)  โดยได้มีประกาศที่  อพ.สธ.  73/2556   ลงนามโดย    นายขวัญแก้ว  วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังในฐานะผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ผศ.ดร.มารวย   เมฆานวกุล  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม  ได้เป็นประธานจัดประชุมสรุปภาพรวมการดำเนินงานในฐานะที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ ฯ ร่วมกับ ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ รองประธานคณะกรรมการดำเนินงาน อพ.สธ- มวล. และเลขานุการคณะกรรมการ อพ.สธ.  โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ  เข้าร่วมด้วย เมื่อวันที่ 18  กรกฎาคม  2557  ณ ห้องโมคลาน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

ผศ.ดร.มารวย   เมฆานวกุล เปิดเผยว่านับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   เพื่อสนองการดำเนินงานตามกรอบของแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่ห้า (ตุลาคม 2554 - กันยายน 2559)  ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อ ปี พ.ศ.2535 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภายใต้ชื่อ “อุทยานการศึกษา” เพื่อเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวโรกาสเฉลิมฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี “กาญจนาภิเษก” และสนองแนวพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาวัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร และมีอุทยานพฤกษศาสตร์ เป็นอุทยานหนึ่งในอุทยานการศึกษา” เฉลิมพระเกียรติ” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งปลูกสร้างสวนพฤกษศาสตร์ จัดหารวบรวม ปลูก บำรุงรักษาและจัดแสดงพันธุ์ไม้วงศ์ต่างๆ ของประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง ให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านพืชและอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่นตามสภาพนิเวศแบบต่างๆ ของพื้นที่เดิม ตลอดจนพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ตามธรรมชาติ แหล่งเรือนพักรับรองนักเรียนค่ายวิชาการวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนทั่วไปที่ต้องการความสงบสุข เข้าถึงธรรมชาติของป่าไม้พื้นถิ่นดั้งเดิม

ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ได้กล่าวถึงกรอบวิธีการดำเนินงานโดยเน้นวัตถุประสงค์หลักคือ สร้างความเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช   และสรรพสิ่งมีชีวิต ให้ร่วมคิดร่วมปฏิบัติ  และให้มีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ ซึ่งแผนแม่บทของ อพ.สธ. เน้น   3   ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรทางกายภาพ  ทรัพยากรชีวภาพ  และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา  โดยมีกรอบการดำเนินงาน   3  กรอบหลัก  คือการเรียนรู้ทรัพยากร   การใช้ประโยชน์  และการสร้างจิตสำนึก   มีกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงาน  8 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช  กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวม  กิจกรรมปลูกรักษา  กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์    กิจกรรมศูนย์ข้อมูล   กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช  กิจกรรมสร้างจิตสำนึก และกิจกรรมพิเศษ สนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช 

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  (อพ.สธ.)  ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน  2535  โดยพระราชทานให้เป็นโครงการส่วนพระองค์  มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักพระราชวัง ตั้งอยู่ที่สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต ถนนราชวิถี แขวงจิตรลดา  เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร