Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2556

01/08/2557

7948


วันนี้ (วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ) เวลา 14.29 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2556 ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวนทั้งสิ้น 1,325 คน ประกอบด้วย ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 10 คน ระดับปริญญาโท จำนวน 42 คน และระดับปริญญาตรี จำนวน 1,273 คน นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้อนุมัติปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ด้วย จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวัฒนธรรมศึกษา และผู้ช่วยศาสตราจารย์รจิต วัฒนสินธุ์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาคณิตศาสตร์

อีกทั้งยังมีบัณฑิตที่ได้รับเหรียญรางวัล จำนวน 12 คน ผู้ได้รับรางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักศึกษา จำนวน 6 คน และโล่ประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวน 2 คน คือ รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ อาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย และรองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน เอกวรางกูร อาจารย์ดีเด่นด้านการเป็นครู เข้ารับพระราชทานรางวัลด้วย

ในการนี้ ได้พระราชทานพระโอวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ความว่า...การศึกษาในมหาวิทยาลัย มีความมุ่งหมายสำคัญที่จะสร้างเสริมให้บุคคลมีความรู้ด้านวิชาการ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับประกอบกิจการงานสร้างสรรค์ความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้า ความรู้ทางวิชาการที่ท่านทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น มีคุณค่าสูงมาก หากนำมาใช้ด้วยความฉลาดไตร่ตรองให้ถูกต้องพอเหมาะแล้ว ก็จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้มากมาย จึงเป็นการสมควรและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่แต่ละคนจะต้องเรียนรู้ฝึกฝนให้สามารถใช้วิทยาการในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ในการนี้ บัณฑิตจะต้องอาศัยคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งเป็นพื้นฐาน คือความสุจริตบริสุทธิ์ใจทั้งต่อความรู้ของตน ต่อการงาน และต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะเกื้อกูลให้บัณฑิตมีความรอบคอบระมัดระวังและรู้จักยั้งคิดไตร่ตรอง ที่จะใช้ความรู้แต่ในทางที่ถูกต้องสร้างสรรค์ ทั้งสามารถประสานความร่วมมือกับทุกคนทุกฝ่าย เพื่อปฏิบัติกิจการงานอันเป็นประโยชน์ของส่วนรวมให้บรรลุผลสำเร็จ ขอให้บัณฑิตทุกคนนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณา แล้วเร่งสร้างคุณสมบัติดังได้กล่าวมานี้ให้เกิดมีขึ้นในตน จะได้ร่วมกันผดุงและสร้างเสริมความสำเร็จของส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของหมู่คณะ สังคม และประเทศชาติสืบไป