Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

อาจารย์บุณฑรี จันทร์กลับ : ศึกษาและสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดนครศรีธรรมราช

04/08/2557

2988

อาจารย์บุณฑรี จันทร์กลับ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเน้นด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน รวมทั้งการสังเคราะห์ข้อมูลจังหวัดนครศรีธรรมราช

งานวิจัยของอาจารย์บุณฑรี ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง การศึกษารูปแบบการจัดการโซ่อุปทานที่เหมาะสมเพื่อรองรับการขยายตัวของการปลูกปาล์มในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า รูปแบบของโซ่อุปทานของปาล์มน้ำมันแบ่งได้ 5 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ขายให้กับโรงงานสกัดโดยตรง รูปแบบที่ 2 ขายให้กับผู้ประกอบการลานเทเอง แล้วผู้ประกอบการลานเทปาล์มขายต่อให้กับโรงงานสกัดปาล์ม รูปแบบที่ 3 ผู้ประกอบการลานเทเก็บเกี่ยวผลผลิต ไปขายให้กับโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน รูปแบบที่ 4 ทีมรับจ้างฯ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายให้กับผู้ประกอบการลานเท จากนั้นผู้ประกอบการลานเทนำผลผลิตปาล์มไปขายให้กับโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน และรูปแบบที่ 5 สหกรณ์รวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันจากกลุ่มสมาชิกและบุคคลทั่วไปที่นำผลผลิตมาขาย ไปขายต่อให้กับโรงงานสกัด

จากการศึกษาและวิเคราะห์ต้นทุนที่เกิดขึ้นตลอดโซ่อุปทานปาล์มน้ำมันในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า ผู้ขายวัตถุดิบหรือเกษตรกรมีต้นทุนการปลูกปาล์มน้ำมัน 2.82 บาทต่อกิโลกรัมของผลปาล์มสด ในขณะที่ผู้รวบรวมหรือลานเทมีต้นทุนประกอบการกิโลกรัมละ 4.73 บาท ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกร มีด้วยกัน 6 ด้าน คือ ด้านสังคม เห็นคนอื่นทำได้ผลดี สมาชิกในครัวเรือนสนับสนุนให้ปลูก และการแนะนำของเพื่อนบ้าน ด้านเศรษฐกิจ มีตลาดรองรับผลผลิต ครอบครัวมีเงินลงทุน มีขนาดพื้นที่ถือครองมากพอ และ ราคาจำหน่ายปาล์มน้ำมัน ด้านกายภาพ การคมนาคมสะดวกจากบ้านถึงสวนปาล์มน้ำมัน สภาพของพื้นที่มีความเหมาะสม มีขนาดพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพียงพอ และพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้านชีวภาพ การปฏิบัติและดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก มีโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดน้อย ด้านการผลิต ความสะดวกในการจัดหากล้าพันธุ์ ด้านการส่งเสริมและบริการ ได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ ได้รับการฝึกอบรมและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และมีการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ปลูกปาล์ม

จุดที่เป็นปัญหา คือ โรงสกัดในพื้นที่มีน้อย ซึ่งหากเพิ่มโรงสกัดได้จะทำให้ต้นทุนการขนส่งของเกษตรกรและลานเทลดลง เกษตรกรและลานเทมีอำนาจการต่อรองเรื่องราคากับโรงสกัดได้มากขึ้น และหากโรงสกัดมากขึ้นก็จะสามารถรองรับปริมาณผลผลิตปาล์มในพื้นที่ที่จะมีมากขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษามุมมองของเกษตรกร ผู้ประกอบการลานเทและโรงสกัด พบว่า โรงสกัดต้องการให้เกษตรกรและลานเทพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการ ต้นทุน คุณภาพ การบริการ และระยะเวลาในการส่งมอบสินค้า

ดังนั้น การออกแบบรูปแบบโซ่อุปทานใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของการปลูกปาล์มน้ำมัน ควรเน้นการขยายในแนวตั้งในส่วนของโรงสกัด ซึ่งมีด้วยกัน 4 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ยังคงมีโรงสกัดอยู่เพียงโรงงานเดียว แต่มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม รูปแบบที่ 2 เพิ่มโรงสกัดขนาดใหญ่ในพื้นที่อีก 1 โรงงาน รูปแบบที่ 3 เพิ่มโรงสกัดขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่หลายโรงงาน โดยการสร้างใหม่ หรือสร้างโรงสกัดด้วยการปรับเปลี่ยนจากธุรกิจเก่า เช่น โรงสี เป็นต้น รูปแบบที่ 4 เพิ่มโรงสกัดขนาดกลาง ขนาดเล็กในพื้นที่หลายโรงงาน และการรวมตัวเป็นสหกรณ์หรือโรงสกัดชุมชน (บริหารจัดการในลักษณะของ สหกรณ์ ) โดยมีแนวทางการจัดการโซ่อุปทานได้ 2 มิติ คือ การจัดการในบทบาทของตนเองและความร่วมมือกันจัดการตลอดโซ่อุปทาน

ส่วนการสังเคราะห์ข้อมูลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เช่นเดียวกัน เป็นการนำประเด็นย่อยที่ค้นพบจากการทบทวนข้อมูลและยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และการทบทวนด้านงานวิจัย ในช่วงปี 2550-2555 เพื่อนำมาเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสอดคล้องกันและช่องว่างที่เป็นทั้งโอกาสในการพัฒนา รวมทั้งปัญหาที่ต้องการแก้ไขในอนาคต

จากผลการทบทวนข้อมูลได้ดำเนินการสังเคราะห์งานวิจัยบนฐานของข้อมูลและยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช สรุปได้ว่า ช่องว่าง (GAP) ที่ต้องการการสนับสนุน แก้ไขและพัฒนา มีทั้งหมด 12 ประเด็น โดยมี 3 ประเด็น ที่มีโครงการหลักภายใต้ยุทธศาสตร์ของจังหวัดสนับสนุนอยู่ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้ความรู้ อาชีพและแหล่งงานเพื่อสร้างรายได้ และส่งเสริมแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดภาระหนี้สินที่เกินตัว 2) ดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้ใช้งานได้และสร้างเพิ่มเติมให้ทันต่อความต้องการที่แท้จริงในพื้นที่ และ 3) แนวทางและการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ต่อไป ส่วนที่เหลืออีก 9 ประเด็น ยังได้รับความสนใจน้อยทั้งจากภาครัฐที่มีจำนวนโครงการที่เข้ามาสนับสนุนไม่เพียงพอและในส่วนของงานวิจัยก็ยังเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ 1) ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ เงินทุน และปัจจัยการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันดีขึ้น ราคาที่ขายสูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดต่ำลง 2) การสนับสนุนด้านราคาของข้าวและผลไม้ที่เหมาะสม เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นในปัจจุบันทำให้แนวโน้มการปลูกลดลง 3) สร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับลูกค้า และการสนับสนุนจากภาครัฐ ด้วยการร่วมกลุ่มเป็นสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรต่างๆ 4) สนับสนุนบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการที่ไม่เพียงพอแก่ประชาชน 5) การแก้ปัญหามลพิษที่ปล่อยลงสู่ธรรมชาติ รักษาแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล และส่งเสริมให้มีการเลี้ยงมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำทะเลและชายฝั่ง 6) ให้ความรู้กับเยาวชนถึงพิษภัยของยาเสพติด เข้มงวดในการตรวจจับเส้นทางการค้ายาเสพติด และสร้างพื้นฐานครอบครัวและชุมชนให้เข้มแข็งต่อต้านยาเสพติด 7) แก้ปัญหาของเสียที่ปล่อยออกจากชุมชนเมืองและพื้นที่ประกอบธุรกิจในบริเวณใกล้เคียง และแก้ไขปัญหาความตื้นเขินของแหล่งน้ำ 8) สร้างมาตรการ แนวทางในการรองรับสถานการณ์และแผนการช่วยเหลือ เยียวยา ขณะและหลังเกิดเหตุการณ์ภัยแล้งและอุทกภัย และ9) ปรับปรุงและสร้างโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรถไฟ เช่น เส้นทางการเดินรถ สถานีรถไฟ และสถานที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) ให้เพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง

นอกจากนี้ อาจารย์บุณฑรี จันทร์กลับ ยังได้ทำวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น “การวิเคราะห์โซ่คุณค่าของดอกมะลิเพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน กรณีศึกษา ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทั้งยังได้ทำวิจัยในฐานะนักวิจัยร่วม โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หัวเรื่อง “การส่งกำลังบำรุงเพื่อบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน : โมเดลการตอบสนองภัยพิบัติในพื้นที่ตำบลเทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช” และ “การศึกษาห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าฮาลาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ” อีกด้วย

“งานวิจัยไม่ใช่เป็นเพียงงานวิชาการ แต่เป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาและช่วยในการวางแผนให้ชุมชนได้ ซึ่งหากงานวิจัยของเราเป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้จริง จะเกิดความอิ่มใจและแรงบันดาลใจให้กับเรา” อาจารย์บุณฑรี จันทร์กลับ กล่าวในตอนท้าย


สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง