Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

บัณฑิตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีอัตราการทำงาน ร้อยละ 76.21 หลังจบการศึกษา 4 เดือน

อัพเดท : 01/09/2557

2772

จากการสำรวจสภาวะการมีงานทำของบัณฑิตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประจำปีการศึกษา 2556 ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรระดับปริญญาตรี จำนวน 1,273 คน ได้งานทำและศึกษาต่อในระยะเวลา 4 เดือนหลังจบการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 76.21

ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและทรัพย์สิน ได้เปิดเผยถึงผลการสำรวจสภาวะการมีงานทำของบัณฑิตประจำปีการศึกษา 2556 ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า หลังจากจบการศึกษาเพียง 4 เดือน บัณฑิตได้งานทำและศึกษาต่อ คิดเป็นร้อยละ 76.21 ส่วนบัณฑิตที่ทำงานพร้อมศึกษาต่อหรือศึกษาต่ออย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 6.35 โดยหากเปรียบเทียบการมีงานทำของบัณฑิตที่จบการศึกษาในปี 2555 คิดเป็นร้อยละ 80.80 ซึ่งมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย อาจเป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติในช่วงที่บัณฑิตสำเร็จการศึกษา อาจส่งผลกระทบทำให้การจ้างงานของหน่วยงานต่างๆ ชะลอตัวลงไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และแพทยศาสตรบัณฑิตทั้งหมดมีงานทำ ส่วนผู้จบการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีน มีงานทำร้อยละ 93.55 วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีงานทำร้อยละ 92.31 วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีงานทำร้อยละ 87.5 เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้จบการศึกษาประจำปีการศึกษา 2556 ระดับปริญญาโท มีงานทำร้อยละ 76 ไม่มีศึกษาต่อ และระดับปริญญาเอกได้งานทำร้อยละ 100 ภายในระยะเวลา 4 เดือน หลังจากจบการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ กล่าวต่อว่า จากรายงานภาพรวมบัณฑิตที่จบการศึกษา ปี 2555 ทั่วประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาวะการมีงานทำและศึกษาต่อในระยะเวลา 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 33.01 เท่านั้น และภายใน 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 45.63 อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะสำรวจสภาวะการมีงานทำและความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต ในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะแจ้งผลการสำรวจให้ทราบในโอกาสต่อไป

“มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความมุ่งมั่นปฎิบัติภารกิจหลัก 4 ด้าน ทั้งการผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ให้ดีและเหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อสังคมและประเทศชาติ”ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ กล่าวในตอนท้าย