Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รศ.ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ : ยึดแนวคิดวิจัยจากงานสอน โจทย์ท้องถิ่น และโอกาสนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม

อัพเดท : 07/10/2557

7358

รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งเน้นผลักดันผลงานวิจัยสู่ภาคการผลิต โดยยึดการทำงานวิจัยจากงานสอน โจทย์จากท้องถิ่น และโอกาสนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการสร้างโจทย์วิจัย จนได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นอาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปี 2556

รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช และศึกษาต่อสาขาชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้รับทุนการศึกษาภายใต้โครงการพัฒนาอาจารย์ ตามความต้องการของภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาจุลชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับทุนการศึกษา และได้รับทุนหลังจบการศึกษาปริญญาโทจากองค์กรยูเนสโกเพื่อศึกษาด้านจุลชีววิทยา (UNESCO International Post-Graduate University Course in Microbiology) ที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

หลังจากนั้นก็ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น (Monbushou) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโตโฮกุ เมืองเซ็นได ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เปิดการเรียนการสอนเป็นปีแรก ในปี พ.ศ. 2541 รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ได้มาทำงานในตำแหน่งอาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ด้วยหวังจะนำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้ศึกษาและเรียนรู้มาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ทำให้มีโอกาสส่งเสริมและพัฒนางานทางด้านการเกษตรผ่านการทำวิจัยให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นบ้านเกิดอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา เล่าว่า มีความสนใจ อยากรู้ ชอบและมีความสุขที่ได้ทำงานวิจัย ขณะเดียวกันงานสอนก็เป็นงานสร้างคน เมื่อได้รวมทั้งสองอย่างไว้ด้วยกัน ทำให้สามารถทำงานวิจัยและงานสอนได้อย่างมีความสุข จึงได้วางแนวคิดหลักที่เชื่อมโยงการเรียนการสอน การทำวิจัย และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ไว้ด้วยกัน โดยนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและการออกภาคสนาม หรือการพูดคุยกับผู้ประกอบการมาบอกเล่าสอดแทรกในเนื้อหาสาระที่สอนนักศึกษา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเนื่องจากนักศึกษาได้ฟังเรื่องราวจากประสบการณ์จริง ทำให้มองเห็นภาพในอนาคตหลังจากจบการศึกษาและออกสู่โลกอาชีพ หรือในกรณีที่มีการอภิปรายแนวทางการทำวิจัยกับนักศึกษาที่ช่วยทำงานวิจัย ทำให้รับรู้ถึงพัฒนาการและความเข้าใจในงานวิจัยนั้นๆของนักศึกษา เหมือนกับว่าได้สร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองสนใจไปยังนักศึกษา อย่างไรก็ตามก่อนที่จะลงมือทำงานวิจัย อาจารย์กล่าวว่าต้องวางสมมุติฐานให้ชัดเจน มองเห็นภาพงานวิจัยว่าต้องการพิสูจน์หรือศึกษาอะไร จะนำเสนอและวิเคราะห์ผลอย่างไร นอกจากในเนื้องานวิจัยแล้ว อาจารย์กล่าวว่าทำอย่างไรให้ลูกศิษย์ที่สอนให้ทำงานวิจัย ได้เทคนิคและความคิด มีพัฒนาการด้านการเขียน อ่าน วิเคราะห์ข้อมูลได้ ซึ่งปัจจุบันอาจารย์มีลูกศิษย์ในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ที่กำลังศึกษาอยู่กับอาจารย์จำนวน 3 คน
ด้วยพื้นฐานความรู้และความชอบที่ได้เล่าเรียนมาด้านจุลชีววิทยา ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา มีความเชี่ยวชาญด้านการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านจุลชีววิทยา กับการเพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือจากการเกษตร และการจัดการวัสดุเศษเหลือและน้ำทิ้งด้วยวิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเน้นการนำงานวิจัยไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม อาจารย์บอกว่า บางโจทย์ที่พัฒนาขึ้น ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรมได้ เพราะเป็นเพียงมุมมองของตัวเอง จึงต้องพยายามมองหาช่องทาง พูดคุยกับกลุ่มคนหรือหน่วยงานที่คาดว่าจะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ พูดง่ายๆ คือ “หาผู้เล่น” เพิ่ม เพื่อสร้างโอกาสการนำผลงานวิจัยไปใช้จริง อาจารย์มีงานวิจัยที่ทำได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น และในช่วงที่ทำงานในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีโอกาสนำผลงานวิจัยไปนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติกว่า 29 เรื่อง ได้จดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์จำนวน 4 เรื่อง คือ กรรมวิธีการผลิตกรด 5-อะมิโนลีวูลินิกจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสง กรรมวิธีการเตรียมเซลล์สาหร่าย Chlorella sp. (WU-W05) แบบมืดเพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปผลิตไบโอดีเซล กรรมวิธีการเตรียมเซลล์สาหร่าย Chlorella sp. (WU-W05) แบบสว่างเพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปผลิตไบโอดีเซล และกรรมวิธีการลดลิกนินในเศษเหลือทะลายปาล์มน้ำมันด้วยกรดเพอร์แอซีติก

ความคาดหวังอีกด้านของคนทำงานวิจัยคือ การนำผลงานมาเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ก็เช่นกัน ต้องสืบค้นผลงานวิจัยที่ต้องการทำวิจัยว่า มีใครได้ศึกษามาก่อนและมีความก้าวหน้าอย่างไร ต้องศึกษาและปรับจนตกผลึก จึงเริ่มลงมือทำงานวิจัย ในระหว่างการทำงานวิจัย ก็หมั่นอ่านความก้าวหน้าของงานในเรื่องที่กำลังทำวิจัยว่า ห้องแล็บอื่นๆ มีผลงานอะไรออกมา แล้วปรับงานของตนเองเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มความก้าวหน้าของงานด้านนั้น โดยมีผลงานวิจัยที่เป็นเจ้าของผลงานและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวน 30 เรื่อง ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รับการอ้างอิงในวารสารต่างๆ เป็นจำนวนมากอีกด้วย

จากผลงานวิจัยที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการและเอกชน ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ ได้รับรางวัลครูดีเด่นด้านการวิจัย ในปี พ.ศ. 2556 และเข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2556 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา

ในตอนท้าย รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ บอกเล่าให้ฟังว่า หวังให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้รับตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันและสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง นอกเหนือจากนำมาตอบคำถามและได้เกรด หากเป็นผลงานวิจัยที่สามารถผลักดันสู่ภาคการผลิต ผลงานที่เพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบ แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้เกี่ยวข้องได้ จัดเป็นความสำเร็จและถือเป็นความภาคภูมิใจทั้งในฐานะครูและนักวิจัย

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง