Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.จัดเสวนาและระดมความคิดเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม

อัพเดท : 03/11/2557

2077

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา จัดงานเนื่องในสัปดาห์พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรม (University/Industry Engagement Week) ระหว่างวันที่ 13-17 ตุลาคม 2557 เพื่อเชื่อมโยงงานวิชาการกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรมขับเคลื่อนและพัฒนาจังหวัด โดยได้รับเกียรติจาก นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดงาน ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ นักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปที่ห้องตุมปัง อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช


ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคใต้มีปณิธานชัดเจนเน้นพันธกิจสำคัญ 3 เรื่อง คือ การสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ สร้างความรู้และนวัตกรรม สร้างสังคมที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะสังคมเข้มแข็งหมายถึงการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ซึ่งล้วนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของทั้งสิ้น มหาวิทยาลัยมีนักวิจัย นักวิชาการที่พร้อมทำงานร่วมกับทุกองค์กร เพื่อนำความรู้ความสามารถ นำนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยไปสู่การพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงได้มีการเสวนาและระดมความคิดเพื่อเชื่อมโยงผลงานมหาวิทยาลัยสู่ภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาจังหวัดขึ้น

อย่างไรก็ตามการจัดงานในครั้งนี้นอกจากมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงงานวิชาการกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาจังหวัดแล้ว ยังได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน และเห็นความคาดหวังของภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่มีต่อเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน ทั้งนี้พันธกิจสัมพันธ์ชุมชนหรือ Social Engagement ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการนำความรู้ นำนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยไปพัฒนาสังคม การขับเคลื่อนงานวิจัยให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในเชิงพาณิชย์ โดยกิจกรรมทั้งหมดออกแบบให้เสริมมุมมองและความรู้ให้เกิดภาพและกระบวนการต่อเนื่องกัน ตั้งแต่โจทย์และความต้องการของภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ทางเลือกของแหล่งทุนต่างๆและกลไกสนับสนุนการทำงาน ประสบการณ์และข้อคิดจากนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรม การพัฒนางานสร้างสรรค์สู่ทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการสร้างรายได้จากนวัตกรรมด้วย

นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า กล่าวว่า นับเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งที่ได้มีการพูดคุยกันถึงบทบาททางด้านวิชาการที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการด้านการผลิต อุตสาหกรรม และเป็นประโยชน์กับประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนอกจากความรู้ที่มีแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำความรู้ไปสู่ปัญญาให้ได้ หรือ Knowledge สู่ Wisdom และที่น่าห่วงใยในประเทศของเราในระยะหลัง ๆ คนมีความรู้เยอะมาก องค์ความรู้เยอะมากแต่เรามีปัญหาการนำองค์ความรู้ไปประกอบกันให้เป็นปัญญาของบ้านของเมือง ที่จะมาพัฒนาให้เป็นรูปธรรม เกิดเป็นงานหรือผลผลิตหรือ Outcome ขึ้นมา

นายพีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า วันนี้บ้านเมืองมีปัญหาอย่างยิ่งไม่ว่าเรื่องของการผลิต ซึ่งผลผลิตนอกจากราคาตกต่ำแล้ว เรายังมีปัญหาผลผลิตต่อไร่ สู้กับกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น ปาล์ม ข้าว ยางพาราเป็นต้น ซึ่งกระทบต่อประชาชนโดยตรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะได้นำมาหาทางช่วยกันแก้ไขอย่างไร ให้ราคาของผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรลืมตาอ้าปาก หรือมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้มีผลผลิตอย่างไรให้สม่ำเสมอ สอดคล้องกับความต้องการของโลก โดยในปี 2558 เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ซึ่งจำเป็นเหลือเกินที่ต้องตั้งหลักอย่างมีศักยภาพ การร่วมมือกันในในการนำองค์ความรู้ของทุกๆภาคส่วน ทุกองค์กรที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น ทิศทางการพัฒนาต่างๆจะมัวทำเพียงลำพังคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกันคิดช่วยกันทำ

“จังหวัดนครศรีธรรมราช มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งอยู่ เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนา และต้องให้มหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้มีความต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การพัฒนาจะคิดตามลำพังไม่ได้ต้องมองในภาพรวม จังหวัดเป็นเพียงจิ๊กซอตัวหนึ่งเท่านั้น ที่จะต้องนำไปต่อกับจังหวัดอื่น ๆเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายพีระศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย

ข่าว/ภาพ โดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์