Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

เจษฎา อังวิทยาธร บรรยายเรื่อง “ความรู้ในมหาวิทยาลัยสามารถมีส่วนแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดอย่างไร”

อัพเดท : 17/10/2557

3145



คุณเจษฎา อังวิทยาธร กรรมการวิจัยและนวัตกรรม สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช บรรยายเรื่อง “ความรู้ในมหาวิทยาลัยสามารถมีส่วนแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดอย่างไร” ในการเสวนาและระดมความคิดเพื่อเชื่อมโยงผลงานมหาวิทยาลัยสู่ภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาจังหวัด สัปดาห์พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ ห้องตุมปัง อาคารบริหาร

คุณเจษฎา เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ตามนโยบายผังเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2557 ทำให้ไม่สามารถสร้างโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มได้ จากปัจจุบันที่มีโรงงานอยู่ 4 แห่ง ส่วนพลังงานทดแทนก็ไม่สามารถผลิตได้ที่นครศรีธรรมราช ขณะที่กระทรวงพลังงานส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน แต่ยุทธศาสตร์ของจังหวัดและของประเทศไม่ได้ประสานสอดคล้องกัน เช่น ให้โค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกปาล์ม แต่ห้ามสร้างโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม ซึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ผลผลิตของปาล์มเพิ่มเป็นล้านตัน สามารถขยายโรงงานได้อีกถึง 2 โรงงาน แต่ทำไม่ได้เพราะติดนโยบายผังเมือง เป็นต้น

ในส่วนของปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ มีผลกระทบต่อเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งในเรื่องนี้ คุณเจษฎา ได้เสนอแนะให้แปรรูปยางพาราเป็นสนามฟุตซอล โดยบอกว่า การทำสนามฟุตซอลใช้ยางพารา 60% และขี้เลื่อย 40% พื้นที่ 1 ตารางเมตร ใช้ต้นทุนเพียง 40 บาท และค่าดำเนินการ 20 บาท รวมเป็นต้นทุน 60 บาท ขณะที่ประเทศจีน ราคาอยู่ที่ 500 บาท และยุโรป 700 บาท ซึ่งการดำเนินการอาจจะเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพมาทำเป็นโครงการนำร่องโดยร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับยางพารา

ส่วนผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของนครศรีธรรมราชก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าไม่น่าสนใจและดึงดูดลูกค้า หรือมังคุดซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดก็ยังไม่สามารถยกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การทำแยม ไวน์ ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีงานวิจัยทางด้านนี้อยู่บ้างแล้ว

อีกบทบาทหนึ่งของ คุณเจษฎา ในฐานะเจ้าของบริษัท นครศรีพาราวู๊ด จำกัด มีประสบการณ์ในการร่วมทำวิจัยกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการอบไม้ยางพาราจากเดิมที่ต้องใช้ระบบ manual เปลี่ยนเป็นใช้ระบบคอมพิวเตอร์ จนสามารลดการสูญเสียในการอบไม้จากระดับ 7 % เป็น 3 % และลดระดับลงมาเรื่อยๆ อีกทั้งสามารถลดระยะเวลาการอบไม้ จาก 7 วัน มาเหลือ 3.5 วัน ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์มีสีขาวสวยขึ้น และการบิด โก่ง โค้งงอ น้อยลง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้หลายแสนบาทในแต่ละเดือน ทำให้คุณเจษฎา ตระหนักว่า “นวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำธุรกิจ” จึงได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้หานวัตกรรมอื่นๆ เช่น การใช้ essential oil ให้ซึมผ่านยางพาราเพื่อทดแทนกลิ่นของสารบอเร็ก

คุณเจษฎา ยังบอกอีกด้วยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนวัตกรรมกว่า 100 เรื่อง หลายๆ เรื่องน่าสนใจ เช่น การนำสารสกัดจากฟักข้าวมาเคลือบข้าวสังข์หยด โยเกิร์ตและไอศกรีมจากนมแพะ เป็นต้น ซึ่งอาจจะยังไม่ได้เผยแพร่ไปยังภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ดังนั้น ถ้าหากนักธุรกิจสามารถเข้าถึงและยกระดับนวัตกรรมได้ จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาได้ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในอีกทางหนึ่งด้วย

สมพร อิสรไกรศีล ข่าว