Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขับเคลื่อนงานวิจัยการท่องเที่ยวกระบี่สู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

อัพเดท : 28/11/2557

2339



หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายอุตสาหกรรม ร่วมผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และตั้งเป้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกภายใต้ภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวคุณภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า “นางสุนันทา สมพงษ์ ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการกองบริหารแผนและงบประมาณการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบงบประมาณในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนในอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ให้กับ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และนางวิยะดา ศรีรางกูล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่”

ทั้งนี้ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นพัฒนาสื่อและเรื่องราวการสื่อสารภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเกาะลันตาที่อาศัยผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา หมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ที่มี ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมกันผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในจังหวัดกระบี่ ที่หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืนได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยในปี พ.ศ. 2556 และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในแผนงานวิจัยปี พ.ศ. 2557 เพื่อพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โอกาสนี้ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ได้กล่าวขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะนักวิจัยจากหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และประเด็นด้านการวิจัยที่ต้องการให้หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าไปดำเนินการ

อนึ่ง การดำเนินงานวิจัยของหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืนเป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายพันธกิจสังคมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นั่นคือ มีการดำเนินงานร่วมกันหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนท้องถิ่น ตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนาโจทย์วิจัยไปจนถึงการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และตั้งเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกภายใต้รูปแบบการท่องเที่ยวสีเขียว