Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รศ.ดร. มณฑล เลิศคณาวนิชกุล : เน้นศึกษางานทางด้านเภสัชศาสตร์ชีวภาพ

17/12/2557

7188

รองศาสตราจารย์ ดร. มณฑล เลิศคณาวนิชกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งเน้นศึกษาในระดับลึกที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านเภสัชศาสตร์ชีวภาพ (Biopharmaceutical Sciences) โดยนำเอาจุลินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ออกฤทธิ์ทางเภสัชที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการแพทย์ และงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

รองศาสตราจารย์ ดร. มณฑล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านจุลชีววิทยา เกียรตินิยมอันดับ 2 จากมหาวิทยาลัยบูรพา จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกทางด้านเภสัชศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมุ่งเน้นศึกษาในระดับลึกที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านเภสัชศาสตร์ชีวภาพ ด้วยการนำจุลินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาโดยจุลินทรีย์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการแพทย์ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีความชำนาญการเกี่ยวกับจุลินทรีย์ทั้งที่เป็นโทษและที่เป็นประโยชน์

เมื่อพูดถึงจุลินทรีย์ รองศาสตราจารย์.ดร. มณฑล เล่าให้ฟังว่า “จุลินทรีย์มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์หลายด้าน เช่น ด้านการแพทย์และสัตวแพทย์ ด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นจุลินทรีย์ยังมีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้อยู่รอบตัวเรา ทั้งในอากาศ น้ำ และอาหาร มีทั้งกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมนุษย์ตั้งแต่โบราณแม้ไม่เคยรู้จักจุลินทรีย์มาก่อนแต่ก็ได้เคยใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์มาแล้วแทบทั้งสิ้น และก็ยังคงพบกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นโทษอยู่บ้างที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งกับมนุษย์และสัตว์ แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์”

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับจุลินทรีย์ ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อของตนเองหรืออิทธิพลของสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเกลียดกลัวจุลินทรีย์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิ่งสกปรกและนำมาซึ่งความเจ็บป่วย แต่ในความเป็นจริงแล้วได้มีการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ จุลินทรีย์กับสิ่งแวดล้อม เช่น การนำจุลินทรีย์มาช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม บำบัดสารมลพิษที่ย่อยสลายยากทั้งที่เป็นสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ จุลินทรีย์กับการแพทย์ เช่น การนำจุลินทรีย์มาใช้เป็นตัวกลางในการผลิตสารที่จำเป็นบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์และการรักษาโรค จุลินทรีย์กับอุตสาหกรรม เช่น การนำจุลินทรีย์มาใช้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร จุลินทรีย์กับการเกษตร เช่น การนำจุลินทรีย์มาทำเป็นเชื้อ EM (ปุ๋ยชีวภาพ)

จากความเกี่ยวข้องระหว่างจุลินทรีย์กับสิ่งมีชีวิตหรือแม้แต่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร. มณฑล มีความสนใจที่จะศึกษาวิจัยเพื่อนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ จนเกิดความชำนาญเกี่ยวกับจุลินทรีย์ทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และใช้จุลินทรีย์เป็นตัวควบคุมคุณภาพของอาหารให้ปลอดภัยต่อการนำมาบริโภค การนำจุลินทรีย์มาใช้เป็นอาหาร รวมทั้งนำเอาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่จุลินทรีย์ผลิตออกมาในระหว่างการเจริญเติบโตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในเบื้องต้นได้ศึกษาโดยนำไปผสมใช้กับผลิตภัณฑ์เจลแต้มสิว น้ำยาบ้วนปาก หรือนำไปเป็นสารต้นแบบสำหรับใช้เป็นสารปฏิชีวนะทดแทนยาเคมีสังเคราะห์เพื่อต้านแบคทีเรียดื้อยาเมธิซิลลินในกลุ่ม Staphylococcus aureus (methicillin resistant Staphylococcus aureus) โดยในขณะนี้ได้มีการเก็บรวบรวมแบคทีเรียที่มีสมบัติดังกล่าวจากแหล่งธรรมชาติไว้อย่างมากมาย ได้แก่ กลุ่มสเตรปโตมัยสีท (Streptomyces) บาซิลลัส (Bacillus) และแบคทีเรียกรดแลคติค (Lactic Acid Bacteria) ซึ่งบางส่วนของแบคทีเรียที่มีประโยชน์เหล่านี้ได้ถูกนำไปแยกวินิจฉัยด้วยการหาลำดับยีน 16S rDNA และนำข้อมูลลำดับยีนดังกล่าวไปวางไว้ในฐานข้อมูลของ GenBank (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เพื่อเป็นแหล่งสื่อกลางสาธารณะในการเข้าถึงของผู้ที่มีความสนใจงานวิจัยทางด้านจุลชีววิทยา

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. มณฑล ยังได้เป็นสมาชิกของศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresources Research Center : TRBC) ศูนย์พันธุวิศวกรรม (BIOTECH) เพื่อขอจัดเก็บรวบรวมแบคทีเรียที่คัดแยกได้จากแหล่งธรรมชาติไม่ให้สูญหายไป นับว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของจุลินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้ใช้เป็นแนวทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

จากความเชี่ยวชาญทางด้านการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านแบคทีเรีย และความปลอดภัยของอาหารทางด้านจุลชีววิทยา รวมทั้งความสนใจทางด้านแบคทีเรียโปรไบโอติค แบคเทอริโอซิน การนำแบคทีเรียที่มีประโยชน์มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพ ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร. มณฑล ได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยทั้งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) งบประมาณแผ่นดิน และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น โดยมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 61 เรื่อง และได้นำเสนอบทความวิจัยที่ประชุมวิชาการ จำนวน 55 เรื่อง ที่สำคัญได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เจลแต้มสิวที่มีผลด้านแบคทีเรียก่อสิวที่ประกอบด้วยโปรตีนชีวสารกึ่งบริสุทธิ์” อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การนำจุลินทรีย์มาใช้เป็นโปรไบโอติก การใช้แบคเทอริโอซินที่ผลิตจากแบคทีเรียไปต้านจุลินทรีย์ก่อโรค การใช้จุลินทรีย์มาเป็นอาหารเพื่อลดระดับโคเลสเตอรอล รวมทั้งการศึกษาอุบัติการณ์ของจุลินทรีย์ดื้อยาที่มีปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ขณะเดียวกัน รองศาสตราจารย์ ดร. มณฑล ยังได้พยายามใช้วิทยาศาสตร์ชั้นสูงโดยอาศัยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อทำการตัดต่อยีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารออกฤทธิ์ปฏิชีวนะที่สนใจทำให้ให้จุลินทรีย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นประโยชน์มากขึ้น

“การมุ่งเน้นทำงานวิจัยพร้อมกับการสอนที่สอดแทรกคุณธรรมให้แก่บัณฑิตทุกรุ่น เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้คู่ความดี และเกิดทักษะด้านการวิจัย เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพต่อประเทศชาติ ทำให้ได้รับมอบโล่เชิดชูเกียรติบุคลากรดีเด่นตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ด้านการวิจัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบปีที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2557” ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ รองศาสตราจารย์ ดร. มณฑล เลิศคณาวนิชกุล ทั้งในฐานะอาจารย์และนักวิจัย

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง