Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

วช. จับมือ สกว. ร่วมกับ ม.วลัยลักษณ์ ผลักดันจังหวัดกระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

17/12/2557

2908

หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินงานวิจัยในจังหวัดกระบี่ภายใต้รูปแบบพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน (University Community Engagement) เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยโดยการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างนักวิจัย แหล่งทุนวิจัย ชุมชนเจ้าของพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในเรื่องนั้น ๆ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยเจ้าของพื้นที่สามารถขับเคลื่อนชุมชนและบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง และผลักดันจังหวัดกระบี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก โดยเฉพาะพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน เล่าให้ฟังว่า “จังหวัดกระบี่มีปฏิญญาการท่องเที่ยวยั่งยืนเป็นแนวปฏิบัติและเป็นกรอบในการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงขอบเขตหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการและภาคประชาชน ทั้งนี้ ในระดับนโยบายจังหวัดกระบี่ต้องการที่จะขายสินค้าการท่องเที่ยวที่แตกต่างจากที่อื่นในประเทศไทยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องการสินค้าที่ซ้ำกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นหรือจังหวัดอื่น ดังนั้น จังหวัดกระบี่จึงมุ่งเน้นในการพัฒนาจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวคุณภาพเน้นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยสิ่งที่ทุกภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ได้ร่วมกันพัฒนาและวางแผนการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด อย่างเช่น น้ำทะเล หาดทรายที่สวย สะอาด ปราศจากมลพิษหรือสิ่งที่มารบกวน ที่จะทำให้เสียมูลค่าทางการท่องเที่ยว เราจึงไม่เห็นร่มชายหาด และเตียงผ้าใบตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดกระบี่ เพราะต้องการส่งเสริมให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว ที่สำคัญชาวจังหวัดกระบี่ยอมรับบริบทการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ให้การเปลี่ยนแปลงมาเป็นตัวชี้นำ อันจะส่งผลให้ขาดความเป็นตัวของตัวเอง หรือมาชี้นำทิศทางการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ การท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ต้องนำสินค้าการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่เป็นตัวตั้งแล้วเลือกลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่มีรสนิยมสอดคล้องกับสินค้าทางการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่”

ด้านอาจารย์สุชาติ ฉันสำราญ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เล่าว่า หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในจังหวัดกระบี่มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึงปัจจุบัน จากข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดกระบี่ที่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านคนต่อปี มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม วัฒนธรรมที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยในปี พ.ศ. 2555 ได้ดำเนินการศึกษาศักยภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวต่อการสร้างรายได้ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี ดร.ปิยะ ปานผู้มีทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งครอบคลุมจังหวัดกระบี่ด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ได้พัฒนาแผนงานวิจัยที่มุ่งสนับสนุนการจัดการการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ในทางปฏิบัติให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ในขณะนั้น คือ นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ได้จัดเวทีพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อผลักดันงานวิจัยให้นำไปสู่การใช้ประโยชน์ตามปฏิญญากระบี่ที่ทุกภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพราะในขณะนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่กำลังเผชิญกับจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาลจากประเทศรัสเซียและจีนที่อาจจะส่งผลต่อสัดส่วนโครงสร้างตลาด ปัญหาด้านทุนมนุษย์ในภาคท่องเที่ยว และปัญหาด้านความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย

ในปี พ.ศ. 2557 ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยที่จังหวัดกระบี่จำนวน 2 แผนงานวิจัย ซึ่งเป็นการต่อยอดผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2556 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกระบี่ โดยแผนงานแรกได้แก่ การศึกษาศักยภาพและผลกระทบการประยุกต์ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในจังหวัดกระบี่ โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC และหน่วยวิจัยการบริโภคเศรษฐกิจยั่งยืน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และแผนงานการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อย่างยั่งยืนที่มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ภายใต้ความร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอื่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต มหาวิทยาลัยศิลปากร และทาง วช. และ สกว. โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เนื่องจากศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยว และเอกลักษณ์เฉพาะของพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มว่า จากการลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พบว่า พุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะพื้นที่บ่อพุน้ำร้อนที่อยู่ในบริเวณป่าและยังไม่มีการพัฒนาให้นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยว ชุมชนมีความต้องการพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 137 ไร่ และต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะมีการผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการแบบ Social Enterprise โดยที่ชุมชนมีโอกาสมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอโครงการวิจัยที่กำลังร่วมกันพัฒนาคือ การพัฒนาภาพลักษณ์ตราสินค้าการท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดกระบี่ที่จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลักดันให้การท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวคุณภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลกตามปฏิญญาการท่องเที่ยวกระบี่อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ เล่าต่อว่า จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่มุ่งเน้นการนำการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ด้วยการสนับสนุนและการผลักดันจาก วช.และ สกว. ในการมุ่งเน้นให้เกิดการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ศึกษา รวมไปถึงภาคธุรกิจที่สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ นั่นคือ “โปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่” โดยโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตของโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียว ได้ถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติภายใต้โครงการ “การเชื่อมโยงผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” ในงานมหกรรมท่องเที่ยว: ITB BERLIN 2014 (International Tourisms Borse) ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 3-12 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยสำนักประสานงานโครงการวิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.)

อนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายอุตสาหกรรมร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดประชุมการบูรณาการงานวิจัยเชิงรุกกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ ณ โรงแรม พีชลากูน่า รีสอร์ท อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เพื่อผลักดันจังหวัดกระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก โดยมีนางวิยะดา ศรีรางกูล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ ได้พูดถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ด้วยฐานงานวิจัยที่มีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่เข้ามาดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียว และนางสุนันทา สมพงษ์ ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการกองบริหารแผนและงบประมาณการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้พูดถึงนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่มุ่งเน้นการนำการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนกว่า 100 คน